การบ่งต้อ คติความเชื่อ และข้อเท็จจริง

การบ่งต้อ คติความเชื่อ และข้อเท็จจริง

ในปี 2565 กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวการรักษาโรคต้อด้วยวิธีการบ่งต้อมีหลากหลายทั้งในแง่มุมที่ดี และไม่ดี บางสำนักข่าวออนไลน์ถึงขั้นแชร์ว่าเป็นข่าวปลอม หรือ ข่าวบิดเบือนเลยด้วยซ้ำไป ทว่ามันจะเป็นจริงดั่งเขาว่าไหมครับเนี่ย ? วันนี้เราจะไปหาคำตอบกันนะครับ (บทความนี้ยาวซักหน่อย แต่มี Spacial Gift แทรกให้นะ พร้อมแล้วไปลุยกัน)


ต้อ คือ อะไร

ก่อนอื่นนั้นเรามาทำความรู้จักกับ ต้อกันก่อนดีกว่าครับ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความว่า โรคอย่างหนึ่งเกิดที่ลูกตา ทำให้ตาพิการมองอะไรไม่เห็นชัดเจน หรือ อาจทำให้ตาบอดได้ ซึ่งโรคต้อนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะแบ่งตามตำราแพทย์แผนปัจจุบัน หรือ แพทย์แผนไทย ก็ตามครับ // ท่านใดชอบศึกษาจากการฟัง สามารถรับฟัง Podcast ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

ต้อ ในตำราแพทย์แผนปัจจุบัน

โรคที่เกี่ยวข้องดวงตา และการมองเห็นตามตำราแพทย์แผนปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 30 โรค แต่ละโรคจะมีอาการแตกต่างกันไปตามพยาธิสภาพ โดยเบื้องต้นนั้นโรคที่เกี่ยวข้องกับ “ต้อ” หลัก ๆ ที่พบมากจะเป็น ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และ ต้อหิน ครับ

ต้อลม (Pinguecular)

ต้อลม คือ ต้อที่มีลักษณะเป็นเยื่อสีขาว หรือ สีขาวเหลือง บริเวณตาขาวข้าง ๆ ตาดำ โดยต้อลมเกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด เป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดอาการ ดวงตาแห้ง เคืองตาง่าย แสบตาและ มีน้ำตาไหลบ้าง แต่จะไม่ทำให้ตามัว หรือ ตาบอดครับ

ต้อเนื้อ (Pterygium)

ต้อเนื้อ คือ โรคต้อที่พัฒนามาจาก ต้อลม แต่เยื่อบุตาจะลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (Cornea) ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเนื้อเยื่อที่ลามเข้ามานั้นจะมีสีขาวออกแดง และมักจะลามจากหางตาไปยังตาดำ หรือ จากหัวตาไปยังตาดำครับ

ต้อเนื้อเกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี (เพราะมันมาจาก ต้อลม นั่นแหละ) และแน่นอนครับว่ามันจะไม่ทำให้ตาบอด แต่คุณภาพการมองเห็นอาจจะลดลง

ต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจก คือ โรคต้อที่เกิดจาก การขุ่นของเลนส์แก้วตา (Lens) ในลูกตา ส่งผลให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอก หรือ ควันขาว ๆ บัง โดยความขุ่นของเลนส์นี้สามารเกิดได้จาก ความเสื่อมเองตามขัย หรือ อาจจะเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือ เกิดขึ้นหลังประสบอุบัติเหคุทางดวงตาครับ…. ต้อกระจกมักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จะอาจมองไม่เห็นในท้ายที่สุดหากไม่ได้เข้ารับการรักษา

ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหิน คือ โรคที่มีความดันในลูกตาสูง เนื่องจากมีการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาน้อยผิดปกติ ส่งผลให้ลูกตาแข็งขึ้น แล้วไปกดขั้วประสาทตา หรือ Optic disc จนทำให้มีการเสียของ “ลานสายตาการมองเห็น” และมีโอกาสทำให้ตาบอดได้ในที่สุดครับ

หากใครที่กำลังสงสัยว่าเป็นต้อชนิดในชนิดหนึ่งอยู่ และอยากเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาในแบบแพทย์แผนปัจจุบัน (จักษุแพทย์) ก็สามารถดำเนินการได้แต่เนิน ๆ ได้เลยครับ

รูปที่ 1 อาการแสดงโรคต้อชนิดต่าง ๆดัดแปลงรูปจาก https://www.bangkokhospital.com/content/beware-of-4-eye-diseases
รูปที่ 1 อาการแสดงโรคต้อชนิดต่าง ๆ ดัดแปลงรูปจาก https://www.bangkokhospital.com/content/beware-of-4-eye-diseases

ต้อ ในตำราแพทย์แผนไทย

หากกล่าวถึงต้อในหลักวิชาการแพทย์แผนไทยแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเนื้อหาจาก “คัมภีร์อภัยสันตา” ที่มีบันทึกเอาไว้ในหนังสือหลายเล่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เวชศาสตร์วัณณนา เล่ม 5, ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 3 วัดโพธิ์, ตำราแพทย์แผนโบราณ เล่ม 1-3 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์, และตำราเภสัช ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ (ต้อ 18 ประการ) เป็นต้น

เมื่ออิง “คัมภีร์อภัยสันตา” แล้ว ต้อ หมายถึง โรคที่เกี่ยวกับตา ลักษณะของต้อที่เกิดขึ้นจากที่ต่าง ๆ ในร่างกายว่า “….รากขึ้นมาแต่….” (ตารางที่ 1) โดยในคัมภีร์ระบุวิธีรักษาเอาไว้ ซึ่งต้อแต่ละชนิดอาจจะให้การรักษาที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น การรักษาต้อกระจก ท่านให้แต่งยาสุมทุกวัน และอย่าให้เป็นพรรดึก จากนั้นทำยาพอกนิ้วโป้งเท้า (สูตรยาตามคัมภีร์) ทุกวัน แล้วจึงปล่อยปลิงในวันข้างแรม ตาจะค่อย ๆ เห็นมากขึ้น เป็นต้น (ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับทำยาทาฝาเท้า และยาสุมต้อ อีก)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างโรคต้อ และรากขึ้นมาแต่…

ชื่อต้อ ราก
ต้อลม รากขึ้นมาแต่หัวใจ
ต้อกระจก รากขึ้นมาแต่หัวใจ เป็นที่หัวตา
ต้อเนื้อ รากขึ้นมาแต่หัวใจ เมื่อแรกเห็น พรึงเป็นผื่นๆ ขึ้นมาในหัวตา ตัวตา และหางตา
ต้อลิ้นสุนัข รากขึ้นมาแต่ ปลีน่องเป็นต้อขาว ๆ

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การรักษาโรคต้อในมิติของแพทย์แผนไทยจะมีอยู่หลากหลายวิธี และวิธีที่ยังไม่ได้พูดถึงได้แก่ การพอกตา การรมตา การตัดต้อ และการบ่งต้อ อันเป็นภูมิปัญญา (Wisdom) ของแพทย์พื้นบ้านครับ

การบ่งต้อ คือ อะไร

การบ่งต้อ คือ วิธีการรักษา อาการ หรือ ความผิดปกติของดวงตา เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม อาการแสบตา จอประสาทตาเสื่อม และอาการอื่น ๆ โดยการใช้หนามหวายขม หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ดึงเส้นใยที่เกิดขึ้นในจุดรอยโรคที่อยู่บริเวณแผ่นหลังของผู้ป่วย โดยมิได้กระทำใด ๆ ต่อดวงตา (คัดลอกจากประกาศสภาการแพทย์แผนไทย 2563 หน้า 39)

ปัจจุบัน วิชาบ่งต้อ เริ่มเป็นที่แพร่หลาย และรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งวิชาบ่งต้อมีหลายสายหลายสำนักด้วยกัน เช่น การบ่งต้อสายแต้จิ๋ว, การตัดต้อสายรามัญ, การตัดต้อสายชุมพร, และการบ่งต้อสายกำแพงเพชร เป็นต้น

 

วิชาตัดต้อสายแต้จิ๋ว

ข้อมูลจาก อ.เอก นาครทรรพ ได้ระบุเอาไว้ประมาณนี้ครับว่า “หลวงพ่อทัย แถวบางยี่เรือ ท่านเป็นจีนแต้จิ๋ว แซ่อึ้ง บิดามาจากแผ่นดินใหญ่ อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ จ.ชุมพร ท่านได้เรียนหนังสือเมืองไทย และได้เข้าเกณฑ์ทหารในเวลาต่อมา ครั้นออกจากราชการท่านก็ป่วยหนัก จึงต้องบวชแก้เคล็ด”

“จากนั้นได้เรียน วิชาตัดต้อ จากโยมเตี่ย และได้นำวิชานี้รักษาคนไข้เห็นผลมามาก แม้กระทั่งพระอาจารย์ของผมเองก็เคยรักษากับท่านจนดวงตามองเห็นแจ่มใสเหมือนเดิม ท่านว่าด้านหลังมีเส้นประสาท พอมีความขัดข้องจะมีผลมาถึงดวงตา จึงต้องรักษาจุดนี้

รูปที่ 2 หลวงพ่อทัย กับวิชาการตัดต้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งสามารถกินกล้วยได้ตามปกติ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามในเรื่องนี้ครับดัดแปลงรูปจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100083661159340
รูปที่ 2 หลวงพ่อทัย กับวิชาการตัดต้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งสามารถกินกล้วยได้ตามปกติ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามในเรื่องนี้ครับ
ดัดแปลงรูปจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100083661159340

วิชาตัดต้อสายรามัญ

การตัดต้อสายนี้ถูกเผยแพร่โดย อ.ตั้ม รามัญ หรือ สุกิจ สืบเมย ซึ่งท่านได้กล่าวว่าเป็นวิชาสายมอญ…. การตัดต้อสายนี้จะใช้เข็มเหล็ก ในการบ่งเส้นใยที่หลังออกมา โดยจุดที่จะบ่งต้อจะออกเป็นสีน้ำตาลไหม้ และเกิดความวาว ๆ ขึ้นมาเมื่อถูกแสงจาก “เทียนไข” ส่อง

ตามข้อมูลที่ได้รับจาก อ.ตั้ม ระบุประมาณนี้ว่า หลักการรักษา คือ การทำให้เลือดลมที่วิ่งเข้าสู่ตานั้นเดินปกติ โดยเส้นดังกล่าวจะลากผ่านแผ่นหลัง ดังนั้นการบ่งจึงต้องบ่งบริเวณหลัง วิชาบ่งต้อสายนี้สามารถกินกล้วยได้ เนื่องจากไม่ใช่ข้อห้ามของวิชา และพิธียกครูเรียน ครูผู้สอนจะป้อนกล้วยให้ลูกศิษย์กินทีละคนครับ

 

 

วิชาตัดต้อสายชุมพร

หมอเสริฐ ขาวอรุณ (หมอพ่อพระแห่งหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร) ท่านเป็นหมอพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการจัดกระดูก และฉายา “หมอพ่อพระ” ก็ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน เนื่องจากท่านมักจะรักษาฟรี (เก็บค่ายกครู 32 บาท แต่หากคนไหนยากจนก็จะคืนค่าครูให้) ครับ…

ถึงแม้ข้อมูลของการตัดต้อสายชุมพรนี้จะมีเผยแพร่น้อยมาก โดยผิวเผินการตัดสายนี้อิงไปทางไสยเวทย์ หรือ คติชนความเชื่อไปค่อนข้างมาก (แต่ส่วนมากมักจะมีหลักวิชาการอยู่ ซึ่งตัวผู้เขียนยังไม่สามารถหาข้อมูลในส่วนนี้ได้ครับ อาจจะต้องลงสนามไปขอเรียนเองแล้วล่ะ) ซึ่งความโชคดีของเราคือ มีคลิปตัวอย่างการตัดต้อของหมอเสริฐ ขาวอรุณ ให้ชมกันครับ

วิชาบ่งต้อ-ตัดต้อสายกำแพงเพชร

วิชาบ่งต้อสายกำแพงเพชรถูกเผยแพร่โดย อ.ชมเอม ขุมเพชร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก หมอสงคราม อินบัว (หมอพื้นบ้าน จังหวัดระยอง) ผู้เป็นศิษย์ของ หมออรุณ นนทวารี (หมอพื้นบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์)

อ.ชเอม ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชานี้ เนื่องจากการเรียนการสอนจะเป็นไปในรูปแบบโบราณ การถ่ายทอดคาถาจะไม่ให้ทำการจด แต่จะบอกให้ฟังเพียงครั้งเดียว จากนั้นจะสอนวิธีการดูจุดที่บ่งต้อ และสาธิตให้ดู พร้อมกับการให้หมอปฏิบัติจริงจนชำนาญจึงถือว่าจบหลักสูตร

วิธีการบ่งต้อของสายนี้ต้องใช้ “หวายขม” เท่านั้น หลังจากบ่งเส้นใยแล้วจึงทำการตัดต้อครับ… ข้อห้ามต่าง ๆ มีอยู่หลายข้อ เช่น หมอห้ามกินกล้วยตลอดชีวิต เป็นต้น เป็นเพราะอะไร ? ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงแบบลึกลงไปอีกระดับในหัวข้อถัดไปครับ

การบ่งต้อด้วยหนามหวาย สายกำแพงเพชร

หวายขม (Calamus viminalis Willd) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ARECACEAE ครับ ตามข้อมูลที่ระบุใน คัมภีร์วิถีกุฐโรค ว่า หนามหวายขม มีรสขม-เย็น ซึ่งเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษาโรคผิวหนัง

หนามหวายขม มีรูปทรงกรวย ซึ่งเป็นรูปทรงที่เหมาะต่อการดึงเส้นใยออกมาได้ง่าย เคล็ดในการเก็บหนามหวายนั้นไม่ความเก็บในฤดูฝน เนื่องจากจะทำให้หนามอ่อน และเปราะง่าย หลังจากเก็บเกี่ยวหนามหวายมาแล้วต้องทำให้แห้งโดยการผึ่งแดด จากนั้นนำมาตัดแต่งโคน ก่อนที่จะนำไปฆ่าเชื้อ

การรักษาคนไข้ 1 คน จะใช้หนามหวายอยู่ 3 อัน เมื่อใช้เสร็จแล้วจำเป็นต้องหักทิ้งทันที เนื่องด้วยคติความเชื่อว่า หากไม่หักทิ้งโรคจะเข้าตัวหมอ ซึ่งอีกนัยหนึ่ง คือ การคำนึงถึงความปลอดภัยมองหมอ และคนไข้ครับ

วิชาหลักที่หมอบ่งต้อจะต้องรู้ (สายกำแพงเพชร)

วิชาบ่งต้อตามสายกำแพงเพชรนี้เอา ผู้เรียนจำเป็นจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด 7 วิชาหลัก ๆ เพื่อที่จะสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ประมาทครับ และ 7 วิชาหลัก ๆ ได้แก่

  1. ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เกี่ยวกับโรคต้อ เช่น มูลเหตุของโรค อาการดำเนินโรค วิธีรักษา เป็นต้น
  2. ทฤษฎีการแพทย์แผนปัจจุบัน (เบื้องต้น) เช่น มูลเหตุของโรค อาการดำเนินโรค แนวทางการรักษา เป็นต้น ซึ่งรู้เอาไว้เพื่อเชื่อมโยง และเทียบเคียงโรคระหว่าง 2 ศาสตร์
  3. จิตกับการรักษา เนื่องจากในการรักษาจะมีการภาวนาคาถาทุกครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องมีสมาธิที่แนวแน่ และจะต้องรู้การวางจิตขณะรักษา ถ้าวางจิตเป็น โรคจะไม่เข้าตัว อ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าควรวางจิต หรือ วางกำลังใจ อย่างไร ?
    • อ.ชเอม มักเน้นย้ำให้ลูกศิษย์วางจิต ให้มีความเมตตาต่อคนไข้ ให้ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอครับ
  4. จรรยาบรรณแพทย์ เกี่ยวกับจริยธรรมของหมอทางการแพทย์แผนไทย 12 ข้อ
  5. การตรวจวินิจฉัยแยกโรค การวางแผนการรักษา วิธีการดู คลำ จุดต้อบริเวณหลัง รวมไปถึงการใช้หนามหวายในการบ่งต้อ
  6. การคัดเลือกหนามหวายตามองค์ความรู้เดิม และฆ่าเชื้อด้วยกระบวนการ Sterilization ตามหลักวิทยาศาสตร์สากล
  7. เทคนิคการดึงเส้นใยต้อให้ออกมามากที่สุด แต่คนไข้รู้สึกเจ็บน้อยที่สุด

มูลเหตุของการเกิดต้อ (สายกำแพงเพชร)

มูลเหตุของการเกิดต้อตามสายกำแพงเพชรสามารถอธิบายได้โดยการอิงองค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนไทยดังนี้ครับ

องค์ความรู้ด้านแพทย์พื้นบ้าน

อ.ชเอม ขุมเพชร อธิบายว่ามูลเหตุของการเกิดต้อนั้นมี 5 สาเหตุด้วยกันครับ จึงขอสรุปเป็นตารางที่ 2 ครับ โดยต้อแต่ละชนิดจะมี “จุดต้อ” บริเวณหลังที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะขออธิบายโดยใช้องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยต่อครับ

ตารางที่ 2 แสดงมูลเหตุของการเกิดต้อชนิดต่าง ๆ

ต้นเหตุเกิดจาก รายละเอียด
ลม เกิดการอัดอั้น ตัน หรือ ค้างอยู่ ทำให้ลมไหลเวียนไม่สะดวก และเดินไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้ไฟเดินไม่สม่ำเสมอ เกิดเป็นต้อเนื้อ และต้อลม
โลหิต เนื่องจากตับมีความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้ลมที่ไหลเวียนไปรับความร้อนจากตับมีความร้อนมากเกินไป จนกลายเป็นลมร้อนที่ขึ้นไปเผาที่ดวงตา เกิดเป็นต้อกระจก วุ้นตาเสื่อม หรือจอประสาทตาเสื่อม
กำเดา เกิดการอัดอั้น ตัน หรือ ค้างอยู่ และได้รับความร้อนที่ตับเพิ่ม จึงกลายเป็นลมร้อนส่งผลให้มีความร้อนมากเกินไป จนกลายเป็นลมร้อนที่ขึ้นไปเผาที่ดวงตา เกิดเป็นต้อกระจก วุ้นตาเสื่อม หรือ จอประสาทตาเสื่อม
เสมหะ เกิดการคั่งค้างของลมร้อนขึ้นไปเผาอยู่ที่ดวงตา ทำให้น้ำในตาซึ่งเปรียบเสมือนถูกต้มอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีน้ำตาคลอเบ้าอยู่ตลอดเวลา ควบคุมน้ำตาไม่ได้ เกิดเป็นต้อหิน และความดันในลูกตาสูง
สันนิบาต เกิดจากการรวมกันของทั้ง 4 สาเหตุข้างต้น ทำให้เกิดตาบอด และรักษายาก

 

องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย

ตามทฤษฎีเส้นประธานอาจจะสามารถอธิบายถึงสาเหตุของการเกิด “จุดต้อ” บริเวณหลังคนไข้แบบนี้ครับว่า จุดต้อที่หมอเห็นบนหลังคนไข้นั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต, ระบบไหลเวียนของลม, และความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย

เส้นประธานที่เกี่ยวข้องจะมีอยู่ 2 เส้น คือ เส้นสหัสรังษี และ ทวารี อันมีผลเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต และลมจากบริเวณข้าง ๆ สะดือ ไปจนถึง ดวงตาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งลมประจำเส้นสหัสรังษี และ ทวารี ได้แก่

  1. ลมประจำเส้นสหัสรังษี
    • ลมจักขุนิวาต อาการ คือ เจ็บกระบอกตา วิงเวียน ตาพร่า ลืมตา ไม่ได้เพราะกินของมันของหวาน
    • ลมอัคนิวาตคุณ คล้ายลมจักขุนิวาต แต่มีอาการร้อนที่เบ้าตาเพิ่ม
  2. ลมประจำเส้นทวารี
    • ลมทิพจักษุ อาการ เจ็บกระบอกตา วิงเวียน ตาพร่า ลืมตาไม่ได้ อาจเป็นทั้ง 2 ข้าง หรือ ข้างเดียว
    • ลมปัตฆาต เกิดจากลมทิพจักษุพิการเรื้อรัง บังเกิดเพราะกินน้ำมะพร้าวอันมันหวาน เเละมีกามสังโยควันอังคาร
รูปที่ 3 เส้นสหัสรังสี และเส้นทวารีดัดแปลงรูปจาก http://www.healthbe1st.com/_m/article/content/content.php?aid=539186958
รูปที่ 3 เส้นสหัสรังสี และเส้นทวารี
ดัดแปลงรูปจาก http://www.healthbe1st.com/_m/article/content/content.php?aid=539186958

ดังนั้นเมื่อระบบไหลเวียนโลหิต และลมเกิดความผิดปกติจะส่งผลให้อาการต่าง ๆ ของต้อที่ดวงตาแสดงออกมา

ความสัมพันธ์ระหว่างเส้นประธาน กับ จุดต้อ อาจสอดคล้อง คัมภีร์อภัยสันตา ยกตัวอย่างเช่น ต้อบางประเภท เกิดจากลมตั้งแต่ฝ่าเท้าที่ไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้ปวดเมื่อยตั้งแต่เท้าจนถึงคอ และมีจุดขึ้นที่ตาดำ เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาเชิงลึก และพรีเมี่ยมกว่านี้สามารถเรียนได้จาก อ.ชเอม ครับ…. จองคิวเรียนได้ที่ 091-152-8098 หรือ เพจบ่งต้อด้วยหนามหวาย-ต้นตำรับ (ครูชเอม ขุมเพชร)

 

หลักการของการบ่งต้อด้วยหนามหวายสายกำแพงเพชร

เมื่อเรารู้ถึงมูลเหตุของการเกิดต้อแล้วว่า มาจากการอุดตัน การคั่งค้าง การขัดกันของเส้นทางเดินลม และมีปัญหาในเรื่องของความร้อนที่สะสม ระบายออกได้น้อยกว่าปกติเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นเราจึงอนุมานได้ว่า การบ่งต้อสายกำแพงเพชร เป็นวิธีที่ช่วยเอาเส้นใยต้อ (กิโลมกังแบบเปิดเผยที่ขวางทางเดินลม) ออกไปให้หมด เพื่อทำให้การกระจายลมได้ดีขึ้น และช่วยให้ความร้อนไหลเวียนดีขึ้น ด้วยเหตุนี้เองครับมันจึงส่งผลให้โรคเกี่ยวกับดวงตามีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะโรคตาที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบลม

ที่ผ่านมามีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า เส้นใยขาว ๆ ที่ดึงจากหลังคนไข้ต้อลม คือ อะไร กันแน่ จนกระทั้ง ปี 2565 คุณจิตอนุวัต พุ่มม่วง ได้นำชิ้นส่วนตัวอย่างเส้นใยต้อ (Sample) ไปทำวิจัยเพื่อตรวจระบุชนิดเนื้อเยื่อจนพบว่ามัน คือ เนื้อเยื่อที่อยู่ในชั้น Dermis ทั้งสองชั้น ได้แก่ Papillary layer และ Reticular layer

รูปที่ 4 ผลตรวจเนื้อเยื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ถึงแม้จะเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ จะ Impact ต่อวงการแพทย์พื้นบ้าน และแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมากครับ
รูปที่ 4 ผลตรวจเนื้อเยื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ถึงแม้จะเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ จะ Impact ต่อวงการแพทย์พื้นบ้าน และแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมากครับ

ขั้นตอนการบ่งต้อ

ในกรณีปกติทั่วไปมักจะทำการรักษาอยู่ทั้งหมด 3 วันด้วยกัน โดยย่อแล้วจะมีประมาณนี้ครับ

  • วันที่ 1 คือ การเปิดแผล บ่งแต่ให้เลือดซิบ ๆ เนื่องจากวันแรก เส้นใยต้อจะแข็งและเหนียว
  • วันที่ 2 คือ วันทำการรักษา
  • วันที่ 3 คือ การตรวจสอบว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป เช่น การบ่งต้อซ้ำ หรือ เพิ่มความถี่ในการรักษา หรือ จัดยาสมุนไพรเสริมให้ เป็นต้นจ้า

ผู้เขียนต้องขอชี้แจงก่อนนะครับว่า ก่อนที่คนไข้ตัดสินใจมารักษาควรจะเตรียมของมาไหว้ครูก่อนซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิม โดยพานครู หรือ ขันธ์ครู ประกอบไปด้วยของ 3 สิ่งได้แก่

  1. กล้วย 1 หวี
    • ส่วนมากจะเป็นกล้วยน้ำว้า ถ้าเลือกหวีที่เขียวจะดีมากเพราะกล้วยหวีจะต้องอยู่ให้ครบ 3 วัน ถ้าเลือกหวีที่สุกงอมอาจจะเสียได้ไวครับ
  2. เทียนขี้ผึ้งแท้หนักหนึ่งบาท 1 เล่ม
    • ชาวบ้านเรียก เทียนทำน้ำมนต์
  3. เงินค่าครู 12 บาท
    • ควรเป็นเหรียญบาทจะดีมาก เตรียมให้ครบไม่ขาด ไม่เกิน
รูปที่ 5 ตัวอย่างขันธ์ครูประกอบด้วยของ 3 สิ่ง หลังจากทำการรักษาในวันที่ 3 เสร็จ หมอจะทำการลากล้วยให้กับผู้ป่วย และแยกเทียน กับ กล้วยออกจากัน โดยห้ามไม่ให้คนไข้เอากลับไปด้วย และห้ามคนในบ้านของหมอกินดัดรูปแปลงจาก ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ สมทบ สอนราช
รูปที่ 5 ตัวอย่างขันธ์ครูประกอบด้วยของ 3 สิ่ง หลังจากทำการรักษาในวันที่ 3 เสร็จ หมอจะทำการลากล้วยให้กับผู้ป่วย และแยกเทียน กับ กล้วยออกจากัน โดยห้ามไม่ให้คนไข้เอากลับไปด้วย และห้ามคนในบ้านของหมอกิน
ดัดรูปแปลงจาก ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ สมทบ สอนราช

หลังจากที่ยกขันธ์ครูแล้ว หมอก็จะทำการขอประสิทธิจากครูตายก่อนทำการตรวจร่างกายคนไข้เพื่อค้นหา “จุดต้อ” จากนั้นจึงทำการบ่งเส้นใยต้อออกมาด้วยหนานหวายที่เตรียมไว้ โดยในแต่ละจุดที่บ่งนั้น หมอจะทำการภาวนาคาถาแล้วเป่าไปที่บริเวณจุดนั้น ๆ เสมอ

เมื่อบ่งครบทุกจุดแล้ว หมอจะนำหนามหวายมาทาบไปที่จุดบ่งต้อตามลำดับ แล้วใช้นิ้วชี้อีกข้าง “แตะที่ปลายหนามหวาย” พร้อมกับ “ภาวนาคาถาบ่งต้อ” จุดละ 1 รอบ โดยจะทำแบบนี้ให้ครบทุกจุด จากนั้นหมอต้อง “หักหนามหวาย” ให้ขาดจากันทันทีเพื่อ “ป้องกันไม่ให้โรคเข้าตัวหมอ” อีกนัยหนึ่งคือการ “ไม่ให้หมอหลงลืมเอาไปใช้กับคนไข้คนอื่น ซึ่งหมายถึงความสะอาดและปลอดภัย” นั่นเองครับ

ข้อห้ามของหมอ

ผู้เป็นหมอจำต้องมีข้อปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วยกันอยู่ 4 ข้อหลัก ๆ โดยผู้เขียนจะขอสรุปเป็นตารางให้อ่านง่าย ๆ ดังนี้ครับ

ลำดับ ข้อห้าม เหตุผล
1 ห้ามกินกล้วยทุกชนิด
  • กล้วยเป็นของไหว้ครู
  • เป็นบททดสอบความอดทน และเป็นสัจจะที่มีต่อครู อันเป็นบ่อเกิดแห่งความตั้งมั่น และความศรัทธาในภายหลัง
2 ห้ามรับประทานของเซ่นไหว้ทุกชนิดยกเว้น เดนพระ เดนพ่อแม่ เดนครู
  • เป็นคติที่ว่าหมอเป็นผู้อยู่เหนือบุคคลทั่วไป ซึ่งพบบ่อยในข้อห้ามกลุ่มวิชชามหาอำนาจ เช่น วิชาโสฬส เป็นต้น แต่รายละเอียดเชิงลึกจะแตกต่างกันไป
3 ห้ามเรียกร้องเงินทองทรัพย์สินในการรักษา
  • ถือคติที่ว่า หมอจะต้องเป็นผู้มีความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่เป็นผู้ที่เห็นแก่ลาภ และไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ป่วย
4 ห้ามถ่ายทอดองค์ความรู้ เว้นแต่ เป็นหมอพื้นบ้านประเภท ค, แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ
  • โดยปกติแล้วจะสอนใครได้จะต้องได้รับอนุญาตจากครูบาอาจารย์ก่อน
  • ป้องกันไม่ให้สอนกันแบบที่มีเนื้อหาไม่ถูกต้อง หรือ เพี้ยนไป

 

จากข้อมูลที่ผู้เขียนบรรจงมอบให้นั้นจะเห็นได้ว่า การบ่งต้อสายกำแพงเพชรนั้นผนวกหลายศาสตร์เอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์แพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย วิทยาศาสตร์ และวิทยาคมต่าง ๆ (คาถาอาคม)

เนื้อหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบ่งต้อเท่านั้น แต่ผู้อ่านคงจะเหนื่อยกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมจะแถมของขวัญพิเศษสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ มันเป็นความรู้จาก อ.อัมรินทร์ สุขสมัย แห่งสำนักสัชฌายะ รสายนเวท ในการทำน้ำมนต์ธรณีสาร (เบื้องต้น) ที่ผู้เขียนบอกว่าพิเศษเพราะว่านักวิทยาคมในยุคปัจจุบันน้อยคนที่จะทราบเรื่องนี้ครับ

น้ำมนต์ธรณีสาร

อ.อัมรินทร์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจครับว่า หากจะกล่าวถึงการใช้วิทยาคมนั้น ผู้ที่จะศึกษาวิทยาคม จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการทำน้ำมนต์ธรณีสาร เนื่องจากว่า การร่ำเรียนสรรพวิทยาคมนั้น มีโอกาสประมาท พลาดพลั้งล่วงเกินครูได้ตลอดเวลา ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทั้งรู้และไม่รู้ หรือที่ เรียกว่า “ต้องเสนียด” เมื่อพูดคำว่า เสนียด หลายคนอาจจะมองว่า คือ การได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นมลทิน อัปมงคล ทว่าการเรียนเวทย์วิทยาคมจะต้องโทษอัปมงคลได้เช่นไรเล่า ?

ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า แท้จริงแล้ว คำว่า “ต้องเสนียด” ในทางไสยเวทย์นั้น ไม่ใช่การต้องสิ่งอัปมงคล หรือโดนสิ่งที่ไม่ดี เสมอไป แต่คำว่าเสนียดนั้น เป็นคำเรียกรวม สิ่งที่ทำให้เกิดโทษ การโดนโทษ ฉะนั้น ไม่ว่า จะโดนโทษจากการล่วงเกินครู ก็เรียกว่า เสนียด การโดนโทษที่เกิดจากวิญญาณไม่ดี ก็เรียกว่า เสนียด

คนที่เรียนไสยเวทย์ จะถูกสอนว่า การต้องเสนียดครูนั้น ไม่ใช่การต้องโทษจากสิ่งที่ไม่ดี หากแต่เป็นการล่วงเกินครู หรือ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อต่อครู หรือ สิ่งแทนครูทั้งหมดทั้งปวง ยกตัวอย่างเช่น การจับเหล็กจาร การหยิบตำรา หรือ การลบผงอักขระ หรือแม้การท่องคาถาผิด ในบางครั้ง อาจจะประมาทจนต้องเสนียด หรือในบางสายเรียกว่า “ต้องเสนียดครู” หรือ “ต้องเสนียดวิชา”

ด้วยเหตุนี้ การร่ำเรียน และการประกอบไสยเวทย์ จึงจำเป็นต้องมีสติ และกระทำการด้วยความระมัดระวังให้มากที่สุด เพื่อให้ต้องเสนียดให้น้อยที่สุด ดังนั้นจะเป็นการดีหากก่อนเรา หรือ ทำกิจใดที่เกี่ยวข้องกับวิทยาคม ควรที่จะปะสะตัว เพื่อปัดเสนียดเอาไว้ก่อน

บทธรณีสารน้อย

อ.อันรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการทำน้ำมนต์ธรณีสารอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่ามีหลายมติ หลายบทคาถา แต่บทที่เป็นสากลและนิยมกันมากที่สุด คือ บทโองการพระเจ้า หรือ โองการท้าวมหาพรหม และบทธรณีสารน้อย

  • โองการพินถุนาถัง อุปปันนัง พรหมาสะหะปะตินามะ อาทิกัปเป สุอาคะโต ปัญจะปะทุมังทิสวา นะโมพุทธายะวันทะนัง ฯ
  • สีโร เม พุทธะเทวัญจะ นะลาเต พรหมะเทวตา หะทะยัง นารายะกัญเจวะ ทะเวหัตเถ จะ ปะระเม สุราปาเท วิษณุกัญเจวะ สัพพะกัมมา ประสิทธิเม ฯ
  • สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิยะตะถาคะโต สิทธิเตโชชะโยนิจจัง สิทธิลาโภ นิรันตะรัง สัพพะกัมมังปะสิทธิเม ฯ
  • สัพพะสิเนหาจะปูชิโต สัพพะโกรธาวินาสสันตุ อะเสสะโต เมตตา กรุณา การุณยัง ทะยาวิเสโสปิยามะนาโป เมสัพพะโลกัสสมิง ฯ

การทำน้ำมนต์

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นการทำน้ำมนต์มาบ้างแล้ว ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่ากว่า 80% จะต้องนึกถึงการใช้ “เทียน” หยดลงน้ำอย่างแน่นอน แท้จริงแล้วการใช้เทียนในทางเวทย์วิทยาคม มีคติหลัก 2 ประการใหญ่ ๆ คือ

  1. เพื่อเป็นการสอน การทดสอบสมาธิจิตของผู้ทำน้ำมนต์ว่ามีสมาธิจิตแน่วแน่เพียงใด โดยการเรียนทำน้ำมนต์นั้น อาจารย์จะสอนตัวบทคาถา และวิธีการรวมจิตเพื่อภาวนาให้เกิดสมาธิ จนนำไปสู่อำนาจจิตเสกสร้างให้น้ำธรรมดานั้นกลายเป็นน้ำมนต์ ประจุอาคมที่ทรงอานุภาพขจัดเสนียดจัญไร สิ่งอัปมงคลได้
    • การทดสอบถึงอำนาจจิตของผู้ทำน้ำมนต์ คือ น้ำตาเทียนดอกพิกุลนั้นจะต้องขาวสะอาด แตกกลีบสวยงามเหมือนกัน “ทุกดอก” ไม่ว่าจะกี่สิบดอก กี่ร้อยดอกก็ตามจะต้องเหมือนกันหมด เพราะเมื่อสมาธิหลุด หรือเคลื่อน น้ำตาเทียนจะเริ่มไม่แตกตัวเป็นดอกพิกุล หรือ เริ่มมีสีขุนของน้ำตาเทียนเข้ามาปน
    • การหยดเทียน ดอกแรกที่ลงสู่น้ำ ถ้าหากว่าเมื่อจรดดอกแรกลงสู่น้ำแล้วแตกตัวเลย และคงสภาพการแตกตัวเช่นนั้นไปตลอด ก็เป็นการพิสูจน์ได้ว่า ผู้นั้นสามารถรวบรวมสมาธิจิตได้ไว และคงสมาธิได้ยาวนาน
  2. น้ำตาเทียนเพื่อดูนิมิต กล่าวคือ ในการประกอบพิธีไม่ว่าจะเป็นการถอด การแก้อาถรรพ์ หรือ อื่น ๆ ซึ่งแต่ละสำนักอาจจะมีมติที่แตกต่างกันไป
รูปที่ 6 ตัวอย่างน้ำตาเทียนของอาจารย์อัมรินทร์ สุขสมัยดัดแปลงรูปจาก https://www.facebook.com/satchaya56/photos/a.970339706500243/1211576855709859/
รูปที่ 6 ตัวอย่างน้ำตาเทียนของอาจารย์อัมรินทร์ สุขสมัย
ดัดแปลงรูปจาก https://www.facebook.com/satchaya56/photos/a.970339706500243/1211576855709859/

 

ข้อห้ามคนไข้

ข้อห้ามหลัก ๆ ของคนไข้มีอยู่ด้วยกันประมาณ 5 ข้อด้วยครับ โดยเหตุผลต่าง ๆ ขอสรุปเอาไว้ในตารางด้านล่างนี้ครับ

ลำดับ ข้อห้าม เหตุผล
1 ห้ามกินกล้วยทุกชนิด และกล้วยแปรรูปทุกชนิด ตลอดระยะเวลาการรักษา 3 วัน
  • กล้วยมีสารโพแทสเซียม (Potassium) สูง และมันส่งผลให้แผลที่เกิดจากการบ่งต้อปิดเร็วขึ้น ทำให้ประเมินอาการจากจุดต้อได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานานขึ้น
2 ห้ามรับประทานของหมักของดองทุกชนิดเป็นระยะเวลา 5 วัน
  • เนื่องจากของหมักดองมีรสเค็ม ส่งผลให้ปิตตะ วาตะ และเสมหะกำเริบขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อ
  • การรับประทานอาหารรสเค็มมากเกินไป จะทำให้ร่างกายสะสมโซเดียม (Sodium) มากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคต้อ
3 หลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อไม้ และชะอม
  • มีสารพิวรีน (Purin) ปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกรดยูริก (Uric acid) หากร่างกายเกิดการสะสมกรดยูริกมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดการอักเสบ และเพิ่มความเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้
4 หลีกเลี่ยงการโดนลม โดนแสง โดนฝุ่น และหลีกเลี่ยงเหงื่อเข้าตา
  • เป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคต้อลม และโรคต้อต่าง ๆ
5 ห้ามยกของหนัก
  • การยกของหนักเกินไป ส่งผลทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้มีโอกาสเกิดเป็นโรคต้อหินได้

 

การบ่งต้อสายกำแพงเพชร ในกรอบความคิดแบบวิทยาศาสตร์

แน่นอนว่าการแพทย์พื้นบ้าน หรือ แพทย์แผนไทยยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ออกมาค่อนข้างที่จะน้อยเมื่อเทียบกับการแพทย์แผนตะวันตก หรือ แผนปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเหล่าบุคลากรของแพทย์แผนไทยเองก็ทยอยทำวิจัยออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว

ปัจจุบันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของ “การบ่งต้อสายกำแพงเพชร” มีอยู่พอสมควรซึ่งผู้เขียนสามารถนำมาเผยแพร่อยู่ 5 ชิ้นหลัก ๆ โดยไล่ลำดับตั้งแต่ ปี 2556 ไปจนถึง 2565 ครับ (ผู้อ่านสามารถ Dowload ได้เพียง Click ที่ชื่องานวิจัย)

ปี 2556

ปี 2559

ปี 2564

ปี 2565

สรุป

การบ่งต้อ คือ หนึ่งในวิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับดวงตาโดยการดึงเส้นใยที่เกิดขึ้นในจุดรอยโรคที่อยู่บริเวณแผ่นหลังของผู้ป่วย (ไม่กระทำการใด ๆ กับดวงตาโดยตรง) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พัฒนามาจากแพทย์พื้นบ้าน ปัจจุบันการบ่งต้อมีอยู่หลายสำนักด้วยกัน แต่มีเพียงการบ่งต้อสายกำแพงเพชร (หมอชเอม ขุมเพชร) ที่ถูกนำไปพัฒนาวิจัยและพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว โดยนักวิจัยยังคงเดินหน้าค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

ผลงานวิจัยเหล่านี้อาจจะเป็นก้าวเล็ก ๆ ของวงการแพทย์พื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย แต่กลับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญก้าวหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะในทัศนะของผู้เขียนเอง มันเสมือน “ก้าวแรกสู่สังเวียนวิทยาศาสตร์” ครับ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ และเป็นกำลังใจท่านทั้งหลายที่สร้างผลงานวิจัย การพัฒนา เผยแพร่ องค์ความรู้เหล่านี้ไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ครับ

เขียน และเรียบเรียง โดย

พท.ป. ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล

อ้างอิง

  1. วัชราภรณ์ อรุณเมือง และคณะ, 2565, การประเมินผลการรักษาโรคตาด้วยวิธีการบ่งต้อด้วยหนามหวาย โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จังหวัดชัยนาท, วารสารหมอยาไทยวิจัย, ปีที่ 8, ฉบับที่ 1, 15-31
  2. สายจิต สุขหนู และคณะ, 2564, การศึกษาองค์ความรู้พื้นบ้านในการรักษาโรคต้อกระจก โดยการบ่งต้อ ด้วยหนามหวายขม กรณีศึกษาหมอชเอม ขุมเพชร, วารสารหมอยาไทยวิจัย, ปีที่ 7, ฉบับที่ 1, 29-45
  3. จิตอนุวัต พุ่มม่วง และคณะ, 2563, การศึกษาโครงสร้างของเนื้อเยื่อหลังการรักษาด้วยการบ่งต้อลมบริเวณหลัง จากศาสตร์การแพทย์แผนไทย, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์, ปีที่ 18, ฉบับที่ 2
  4. ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556
  5. ชเอม ขุมเพชร และคณะ, 2559, ผลการรักษาโรคตาด้วยหนามหวาย โดยการตรวจระดับความสามารถในการมองเห็น (VA) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากอ่าง จังหวัดกาแพงเพชร
  6. เอมอร พรมแก้ว และคณะ, 2556, การศึกษาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชรกรณีศึกษาของหมอชเอม ขุมเพชร
  7. https://www.facebook.com/profile.php?id=100083661159340
  8. https://www.facebook.com/profile.php?id=100070448425595
  9. https://www.facebook.com/Arnon5638/posts/1482031681807410/
  10. https://www.facebook.com/satchaya56/photos/a.970339706500243/1211576855709859/

3 thoughts on “การบ่งต้อ คติความเชื่อ และข้อเท็จจริง

  1. Pingback: หัตถการการรักษาของแพทย์แผนไทย - พรหมวิหารคลินิก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *