สมุนไพรบำรุงปอด

ฉบับย่อ

  • pm 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 mm สามารถก่อให้เกิดโรคกลุ่มทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ
  • สมุนไพรไทยหลายชนิดสามารถบำรุงปอดได้ เช่น กระชาย, มะระขี้นก, มะขามป้อม เป็นต้น
  • กลไกหลักของกระชาย, มะระขี้นก, มะขามป้อม คือ การต้านอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระในปอด

สมุนไพรบำรุงปอด

PM2.5 คือ อะไร

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถพบได้ในอากาศจากแหล่งที่มาต่างๆ เช่น การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ กระบวนการทางอุตสาหกรรม กระบวนการเผาพืชผลหลังทำไร่ ทำนา ทำสวนของกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือ การเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ รวมไปถึงเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า เป็นต้น

ด้วยอนุภาคละเอียดของ PM2.5 สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพปอดและการทำงานของระบบทางเดินหายใจโดยรวม ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของ PM2.5 ต่อปอดสามารถสรุปได้แบบย่อ ๆ ดังนี้

  1. การสูดดมและการสะสม:
    • เมื่อเราหายใจเอาอากาศที่มี PM2.5 เข้าไป อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถซึมลึกเข้าไปยังหลอดลมและถุงลมในปอด เนื่องจากมันมีอนุภาคขนาดที่เล็ก จึงสามารถหลบเลี่ยงกลไกการป้องกันตามธรรมชาติของระบบทางเดินหายใจ เช่น mucociliary escalator ซึ่งช่วยกำจัดอนุภาคขนาดใหญ่
  2. การอักเสบ (Inflammation):
    • เมื่ออนุภาค PM2.5 ไปถึงเนื้อเยื่อปอด พวกมันสามารถทำให้เกิดการอักเสบโดยกระตุ้นการปลดปล่อยสารสื่อการอักเสบ เช่น cytokines และ chemokines เป็นต้น
    • การอักเสบนี้สามารถนำไปสู่ความเสียหายของเนื้อเยื่อปอด และอาจทำให้โรคปอดเดิมที่บางคนอาจจะกำลังเป็นอยู่กำเริบขึ้น เช่น หอบหืด, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, และหลอดลมอักเสบ เป็นต้น
  3. ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative stress):
    • อนุภาค 5 มักจะนำพาสารพิษ และโลหะหนักต่างๆ บนพื้นผิวเข้าสู่ปอด ซึ่งสามารถก่อให้เกิด Reactive oxygen species (ROS) ในเนื้อเยื่อปอดได้
    • การเพิ่มขึ้นของ ROS สามารถนำไปสู่ Oxidative stress à ทำให้เซลล์, โปรตีน, และ DNA เสียหาย ซึ่งความเสียหายนี้อาจนำไปสู่ โรคทางเดินหายใจ และ มะเร็งปอด
  4. ผลกระทบต่อระบบในร่างกาย:
    • PM2.5 สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้โดยการเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางถุงลมในปอด เมื่อมันอยู่ในกระแสเลือด อนุภาค PM2.5 จะนี้สามารถเดินทางไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ และ Oxidative stress โดยอาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ
    • นอกจากนี้ PM2.5 ยังช่วยให้เชื้อโรคต่างถิ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในปอดอีกด้วย ซึ่งมันจะเกิดให้โรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาเพียบ (อธิบายกลไกระดับโมเลกุลได้ตามรูปที่ 1 เลยครับ)
รูปที่ 1 กลไกที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ทำให้ฟังก์ชันป้องกันโฮสต์ของเยื่อบุทางเดินหายใจลดลง ปกติเยื่อบุทางเดินหายใจป้องกันเชื้อโดยการขับถ่ายเยื่อเมือก, ฟังก์ชันกำแพงเยื่อบุ และ AMP ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ แต่ PM2.5 ทำให้เชื้อเพิ่มขึ้นในทางเดินหายใจ กลไกระดับโมเลกุลมีดังนี้; 1.) PM2.5 กระตุ้นเส้นทาง EGFR ทำให้มูซิน MUC5AC เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขับถ่ายเยื่อเมือกลดลง; 2.) PM2.5 เปิดใช้งานเส้นทาง AKT/NF-κB ผ่านสัญญาณ IL-6 จากนั้นเพิ่มการส่งเสริมการสะสมของ ICAM-1 ในปอดเพื่อเพิ่มการยึดเกาะของเชื้อต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ; 3.) PM2.5 กระตุ้น ROS และเส้นทาง ERK1/2 ทำให้คลาวดิน-1 ลดลง ทำให้กำแพงเยื่อบุที่มี TJs ลดลง และเชื้อสามารถข้ามกำแพงเยื่อบุที่ถูกทำลายมากขึ้น; 4.) PM2.5 ยับยั้งการส่งเสริมการสะสมและการถ่ายทอดของ β-เดฟีนซิน ทำให้เชื้อสามารถรอดชีวิตและทำให้การติดเชื้อทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น (อ้างอิง)

 

โดยสรุปแล้ว อนุภาค PM2.5 สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพปอดได้โดยการหลบเลี่ยงกลไกการป้องกันตามธรรมชาติของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบ และ ภาวะ Oxdidative stress นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหาย และพัฒนาไปเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอีกมากมาย ท้ายที่สุด PM2.5 สามารถส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้อีกด้วยครับ

 

สมุนไพรบำรุงปอด

สมุนไพรบำรุงปอด คือ สมุนไพรที่มีความสามารถในการฟื้นฟูสภาพปอดที่ถูกทำร้ายโดยสิ่งแปลกปลอม หรือ ถูกทำให้เสียหายบางส่วน หรือ เสียฟังก์ชั่นบางส่วนไป โดยที่เราจะพูดถึงในบทความนี้คือ กระชาย, มะระขี้นก, และมะขามป้อมครับ

สมุนไพรที่รวมสารสกัดจากกระชาย (Boesenbergia rotunda) ผงมะระขี้นก (Momordica charantia ) และ สารสกัดจากมะขามป้อม (Phyllanthus emblica หรือ Indian gooseberry) มีประโยชน์ต่อการทำงานของปอด เนื่องจากคุณสมบัติที่หลากหลายของส่วนผสมจากธรรมชาติดังนี้:

สารสกัดจากกระชาย (Boesenbergia rotunda)

  1. คุณสมบัติต้านการอักเสบ:
    • สารสกัดจากกระชายอาจช่วยลดการอักเสบได้ ซึ่งมันสามารถบรรเทาอาการต่างๆ ในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
  2. คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ:
    • สารต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดจากกระชายอาจช่วยปกป้องเนื้อเยื่อปอดจาก Oxidative stress และความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ได้
รูปที่ 2 กระชายเหลืองบ้านๆ นี่แหละ แต่คุณประโยชน์มากมาย โบราณท่านว่ากินอาหารให้เป็นยาก็มิได้กล่าวเกินจริงแต่ประการใด ผลงานวิจัยชิ้นนี้ระบุไว้ว่ากระชายสามารถป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหารได้เนื่องจากคุณสมบัติการต้านอักเสบและต้านอนุมูลอิสระครับ… เห็นชัดเจนเลยเมื่อดูสภาพกระเพาะอาหารของกลุ่มที่ไม่ได้กินกระชาย กับ กลุ่มที่กินกระชาย (อ้างอิง)

 

ผงมะระขี้นก (Momordica charantia)

  1. คุณสมบัติต้านการอักเสบ:
    • ผลมะระขี้นกถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่อาจเป็นประโยชน์ในการจัดการกับสภาวะทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ
  2. คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ:
    • สารต้านอนุมูลอิสระในมะระขี้นกสามารถช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์ปอดจากอันตรายที่เกิดจากสภาวะ Oxidative stress
รูปที่ 3 หวานเป็นลม ขมเป็นยา สมชื่อจริงๆ บางคนชอบกินขมก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเลยครับ เพราะนอกจากอร่อยแล้ว ยังบำรุงปอดได้ด้วย รูปนี้เป็นการสรุปกลไกการออกฤทธิ์ของมะระขี้นกในด้านต่างๆ เช่น ต้านอักเสบ, ต้านอนุมูลอิสระ, ต้านเบาหวาน, และต้านการเกิดเนื้องอก (อ้างอิง)

มะขามป้อม (Phyllanthus emblica หรือ Indian gooseberry)

  1. คุณสมบัติต้านการอักเสบ:
    • สารสกัดจากมะขามป้อม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่อาจเป็นประโยชน์ในการจัดการกับสภาวะทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ
  2. คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ:
    • มะขามป้อมอุดมไปด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยปกป้องเนื้อเยื่อปอดจาก Oxidative stress และรักษาสุขภาพปอดโดยรวม
รูปที่ 4 มะขามป้อม ตัวยาหลักในตำรับยาพิกัดตรีผลา ให้คุณอนันเพราะไม่เพียงแต่สามารถป้องกันปอดจากการบาดเจ็บจากอักเสบเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันก้อนเนื้อร้ายก่อนมะเร็งในปอดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการควบคุมเส้นทางสัญญาณ IL-1β/miR-101/Lin28B ซึ่งหากดูจากรูปปอดก็น่าจะเข้าใจได้ครับ (อ้างอิง)

 

แม้ว่าสมุนไพรเหล่านี้อาจมีต่อการทำงานของปอดหลายประการ แต่สิ่งสำคัญ คือ ปัจจุบัยยังมีหลักฐานทางคลินิกที่น้อยมาก จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนรับประทาน

 

ควรกินสมุนไพรบำรุงปอดในขนาดยาเท่าไหร่

โดยปกติทั่วไป ช่วงขนาดยาสำหรับสารสกัดจากกระชาย คือ 50-400 mg/วัน สำหรับผงมะระขี้นก คือ 1-6 g/วัน และสำหรับสารสกัดมะขามป้อมคือ 500-1,000 mg/วัน

 

สรุป

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากหลายประการ ณ ปี 2023 PM2.5 ได้กลายเป็นปัญหาระดับประเทศเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมวิกฤตนี้ได้เลย ผู้คนต่างกลัวผลกระทบทางสุขภาพอันเกิดจาก PM2.5 จึงหาวิธีป้องกันตัวและวิธีบำรุงปอดที่ถูกทำลายโดย PM2.5

สมุนไพรไทยหลากหลายชนิดสามารถบำรุงปอด หรือ ฟื้นฟูปอดได้ โดยบทความนี้ได้นำเสนอสมุนไพรเพียง 3 ชนิดที่สามารถบำรุงปอดของเราได้ ซึ่งแอดมินจะพยายามเขียนบทความและให้สูตรยาบำรุงปอดให้ในวาระหน้าครับ

 

รวบรวมและเขียนโดย

พท.ป.ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *