แพทย์แผนไทย กับ การสักยา

แพทย์แผนไทย กับ การสักยา


การสัก และความนิยมในการสักมีขึ้นในหมู่มนุษยชาติต่าง ๆ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ปีแล้ว ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติต่าง ๆ มากมาย เช่น อียิป อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ “แพทย์แผนไทย” และ “แพทย์พื้นบ้าน” กันล่ะ? [ใครชอบฟัง มากกว่า อ่านเรามี Podcast ให้ครับ]

การสัก คือ

“การสัก” ในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึก หรือ น้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมาย หรือ ลวดลาย, ถ้าใช้หมึกเรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า สักน้ำมัน ครับ

ในปี 2002 สถาบันผิวหนังของอเมริกา (The American Academy of Dermatology) ได้ทำการศึกษาวัฒนธรรมการสักในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และพบว่า การสัก สามารถแบ่งได้ 5 ประเภทด้วยกัน คือ

  1. การสักแบบสมัครเล่น (Amateur tattoos) เป็นการสักตามภูมิปัญญาท้องถิ่น (ตามมีตามเกิด)
  2. การสักแบบมืออาชีพ (Professional tattoos) เป็นการสักตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และสักโดยใช้เครื่องมือแบบสมัยใหม่ โดยส่วนมากจะเป็นการสักเป็นลวดลายสวยงาม เช่น สักคาบูกิ แบบญี่ปุ่น เป็นต้น
  3. การสักเพื่อความสวยงาม (Cosmetic tattoos) เช่น การสักคิ้ว 3 มิติ หรือ การริมฝีปาก เป็นต้น
  4. การสักเพื่อลดอาการบาดเจ็บ (Traumatic tattoos) หรือ สักธรรมชาติ (Natural tattoos) คือ รอยสัก (บาดแผล) เป็นรอยสักที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เป็นต้น
  5. การสักรักษาโรค (Medical tattoos) คือ การสักเพื่อมุ่งเน้นไปในการรักษาโรคตามชื่อเลยครับ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

 

รูปที่ 1 การสักลายแบบ Traumatic tattoos ของชนเผ่าแชมบบริ (Chambri) ในปาปัวนิวกินี จะเห็นได้ว่าพวกเขายอมเจ็บเพื่อให้ได้ลายอันสวยงามตามจารีณเดิม
ดัดแปลงรูปจาก https://popcornfor2.com/content/-news-64286

การสักยา คือ

การสักยา คือ การทำให้ผิวหนังเกิดรูที่กว้างขึ้น (ชั่วคราว) เพื่อให้น้ำมัน (ตัวยาสมุนไพร) ซึมเข้าสู่บริเวณที่เป็นปัญหาของโรคโดยตรง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะสามารถเรียกว่า “Transdermal Drug Delivery” ได้ไหม ? ใครทราบช่วย Comment บอกกันได้นะครับ

รูปที่ 2 รูปแสดงถึงระดับความลึกของการสักยา จะเห็นได้ว่าเข็มสามารถนำพาน้ำมันสมุนไพรเข้าสู้ผิวหนังชั้น Dermis จากนั้นตัวยาบางส่วนจะซึมเข้าสู้เส้นเลือดฝอย ในขณะที่บางส่วน อยู่ในชั้น Stratum corneum, Epidermis, Dermis, Subcutaneous Tissue, และค่อย ๆ ซึมเข้าสู่กล้ามเนื้อตามลำดับ (บางครั้งจะเห็นเลือดซึมออกมาขณะสัก นั่นแสดงให้เห็นว่า เข็มได้พาตัวยาเข้าไปถึงที่แล้วจริง ๆ) ตัวย่อ: DDDS, Dermal drug delivery systems; TDDS, transdermal drug delivery systems.
ดัดแปลงรูปจาก Muzzalupo, Rita & Tavano, Lorena. (2015). Niosomal drug delivery for transdermal targeting: Recent advances. Research and Reports in Transdermal Drug Delivery. 4. 10.2147/RRTD.S64773.

การสักยาเพื่อรักษาโรคได้อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เท่าที่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากผลงานทางวิชาการ และความรู้ที่ได้เรียนมาได้พบว่าในประเทศไทย ยังคงมีการสักยาเพื่อรักษาอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การรักษาพิษ และการรักษาอาการเจ็บปวดครับ

การสักยารักษาพิษงู และพิษแมงมุม

จุดประสงค์ของการสักยาชนิดนี้ก็ตามชื่อเลยครับ คือ การรักษาพิษงู และพิษแมงมุมครับ การสักแบบนี้มักจะพบในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ใน นาข้าว นั้นจะมี บึ้งแดง และน้ำตาลอาศัยอยู่ โดยจากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า บึ้งดังกล่าวคือ แมงมุมดิน หรือ ทารันทูล่า (Chilobrachys huahini) ที่มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว

ถึงแม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “พิษของบึ้งมีเพียงเล็กน้อยแค่เพียงพอจะให้เหยื่อขนาดเล็ก เป็นอัมพาตเท่านั้น” แต่จากภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านได้ให้ข้อมูลแบบนี้ว่า คนที่ถึงบึ้งเหล่านี้กัดจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่สารพิษจะซึมเข้าสู่ร่างกาย เมื่ออากาศเย็น หรือ ก่อนฝนตก คนที่ถูกกัดจะมีอาการหนาวสะท้าน เจ็บปวดในกระดูก ถ้าไม่เอาเขี้ยวบึ้งออก จะทำให้เป็นอัมพาตภายใน 5-7 ปีเลย ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ออกมาค้านแต่อย่างใด

รูปที่ 3 แมงมุม ทารันทูล่า คือ แมงมุมดินที่ใครหลาย ๆ คนคิดว่าพิษของมันรุนแรง ซึ่งตัวผู้เขียนเคยเข้าใจแบบนั้นเหมือนกัน จนได้มาศึกษาจริง ๆ จึงพบว่า พิษของมัน ไม่ได้โหดร้ายเหมือนหน้าตา
ดัดแปลงรูปจาก https://www.mymonsters.co.za/product/chilobrachys-huahini/

ปัจจุบันการสักยาแบบนี้หลงเหลือน้อยเต็มทีครับ ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลตำรับยาสักมีเพียง 3 ตำรับด้วยกัน

  1. ตำรับของ พ่อประวิทย์ ดวงแพงมาตย์ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จะประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่
    • รากหำฮอก หรือ ขางหัวหมู (Miliusa velutina (Dunal) Hook. f. & Thomson) สมุนไพรชนิดนี้ต้องทำมาลดความเป็นพิษ ซึ่งใช้เวลานานถึง 1 ปีเลยครับ
    • รากกอมก้อบลอดขอน (Sauropus hirsutus Beile) หากไม่มี สามารถใช้ว่านแผ่นดินเย็น (Aristolochia arenicola Hance) แทนได้
    • ดีหมูป่า (Susscrofa Linnaeus) โดยการเก็บว่านแต่ละชนิดมีเคล็ดการเก็บ และวิธีการหุงไม่สามารถเผยแพร่ได้มากนัก บอกได้เพียงว่า นำสมุนไพร 3 ชนิดมาฝนให้ได้สมุนไพรที่มีความเหนียวข้นครับ
รูปที่ 4 การสักยารักษาพิษงูของพ่อประวิทย์ ดวงแพงมาตย์
ดัดแปลงรูปจาก สุทธิรา ขุมกระโทก และคณะ, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 14 ฉบับที่ 2, ปี 2559, หน้า 212-216
  1. ตำรับของ พ่อบุญจันทร์ ภูนาเพชร อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี วิธีการหุงน้ำมันจะต้องใช้คาถากำกับ (บอกไม่ได้เนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องบังเอาไว้) ซึ่งน้ำมันสักจะประกอบไปด้วยว่านยาหลากชนิด ได้แก่
  • ว่านกระจาย (Curcuma sp.1)
  • ว่านแก้เส้นขอด (Curcuma sp.2)
  • ว่านขมิ้นขาว (Curcuma sp.3)
  • ว่านถอนพิษร้อยแปด (Curcuma sp.) โดยส่วนมากคนโบราณใช้คำว่า ร้อยแปด ในหลายกรณี หนึ่งในนั้นมีนัยยะว่า มากมายหลากหลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีจำนวน 108 จริง ๆ มันอาจจะมากกว่า หรือ น้อยกว่า ก็ได้ครับ
  • น้ำมันบึ้งแดง (Haplopelma ) หากไม่มีให้ใช้ น้ำมันเลียงผา (Carpricornis sumatraensis) หรือ น้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันงา แทนได้ แต่คุณภาพจะด้อยกว่าน้ำมันบึ้งแดงครับ
  • หากหาสมุนไพรไม่ได้จริง ๆ สามารถใช้น้ำมันงูเหลือม (Python reticulatus) ได้ แต่ Side effect ของมัน คือ การทำให้สมรรถภาพทางเพศหย่อนครับ
  1. ตำรับของ พ่อสง่า จุฬารมย์ บ้านหนองเครือ ต.ห้วยแถลง อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา มีข้อห้ามอยู่ 2 ประการสำหรับผู้รับการสัก คือ ห้ามสูดดมน้ำมันสัก และ ห้ามกินดักแด้ เนื่องจากโปรตีนจากดักแด้จะไปลดประสิทธิภาพของน้ำมันสักที่อยู่ในร่างกายครับ ซึ่งว่านยาจะต้องกู้มาแบบถูกต้องตามขนบ และวิธีเก็บว่านยา รวมถึงคาถาที่ใช้จะต้องเป็นตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ (ไม่สามารถเผยแพร่ได้) เท่านั้น แต่ผู้เขียนสามารถบอกได้คราว ๆ ว่ามีว่านยาอยู่ประมาณ 3-4 ชนิด ได้แก่
  • รากกอมก้อยลอดขอน (Aristolochia arenicola Hance)
  • รากตีนตั่งเตี้ย (Ellipeiopsis feruginea (Buch.-Ham. Ex Hook. f. & Thomson) R.E.Fr.)
  • รากไซเดน (Polyalthia cerasoides Ex Bedd.)
  • ดีงูเหลือม (Python reticulatus)

การสักยารักษาอาการเจ็บปวด

การ “สักยา” ชนิดนี้ เป็นการสักเพื่อแก้โรคทางกาย โรคปวดตามร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดเข่า ปวดเอว ปวดหลัง ปวดกระเบนเหน็บ ปวดข้อ ปวดหัวไหล่  ปวดกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสักบางสำนักสามารถปรับสมดุลเลือดได้ด้วย จึงสามารถรักษาอาการปวดหัวจากภาวะความดันโลหิตสูงได้ครับ

หลังจากที่ผู้เขียนได้พยายามค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลมาพบว่า ปัจจุบันมีสืบทอดอยู่ 2 สำนักหลัก ๆ คือ สำนักของพ่อแพง นาคะอินทร์ และ สำนักของ อ.ชเอม ขุมเพชร ครับ (ใครมีข้อมูลเสริมสามารถ Comment เข้ามาได้นะครับ)

  1. การสักยาตามสายวิชาของพ่อแพง นาคะอินทร์

ปัจจุบันยังคงมีให้บริการสักโดยพ่อพุทรา ตาบุดดา อำเภอพนา จังหวัด. อำนาจเจริญ ซึ่งน้ำมันสักของสายวิชานี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่สามารถเผยแพร่คาถาสลายเลือดในขณะเช็ดน้ำมันได้ดังนี้ครับ

“โอมสามเฒ่า โอมสามแก่ โอมสามพาข้าว โอมเฒ่าผีโพง โอมเฒ่าผีพาย โอมสหายยาเด้อ มนต์อันนี้กูซิอ่อยเลือดขึ้น มนต์อันนี้กูซิอ่อยเลือดลง ว่าซิลงเลือดแล้ว กูซิเป่าเลือดหมู่นี้ให้มันมุ่น บัดนี้แล้วนคร โอมสะหะ โอมสหาย ยาเพ้อ”

รูปที่ 5 การสักยารักษาอาการปวดของพ่อแพง นาคะอินทร์
ดัดแปลงรูปจาก สุทธิรา ขุมกระโทก และคณะ, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 14 ฉบับที่ 2, ปี 2559, หน้า 212-216

 

  1. การสักยาตามสายวิชาของหมอชเอม ขุมเพชร

วิชา “สักยา” สายนี้ถูกเผยแพร่โดย หมอชเอม ขุมเพชร จ.กำแพงเพชร ซึ่งท่านได้ผสมผสานกันระหว่างความรู้ที่ได้จากการศึกษาทางด้าน

  1. การแพทย์พื้นบ้าน,
  2. การนวดรักษา
  3. การสักยาจากแพทย์พื้นบ้าน จ. ลำพูน
  4. กายวิภาค และสรีระวิทยามนุษย์
  5. อื่น ๆ
รูปที่ 6 การสักยารักษาโรคตามสายวิชาของ อ.ชเอม ขุมเพชร ถึงแม้จะเจ็บหน่อยแต่ก็จบครับ
ดัดแปลงรูปภาพจาก facebook ของคุณ Weerayut Tanee

โดยองค์ความรู้ที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นหลัก ซึ่งการ “สักยา” ตามแนวเส้น พร้อมกับการบริกรรมคาถาขณะสัก มีประสิทธิภาพมาก และในปัจจุบันมีผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ออกมาแล้วว่า

  1. การสักยาสามารถลดระดับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อม เพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังหยุดรักษา 7 วัน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05)
  2. การสักยาสามารถลดระดับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าการประคบสมุนไพร ทั้งในด้านความปวด ด้านอาการข้อฝืด และด้านความสามารถการใช้งานข้อแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05)
  3. การสักยา และการประคบสมุนไพร ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเพิ่มขึ้น

 

รูปที่ 7 กราฟแท่งเทียนแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการสักยารักษาโรคเข่าเสื่อม
แหล่งข้อมูลที่นำมาทำกราฟ: พรพรรณ คำมา และคณะ, วารสารหมอยาไทยวิจัย, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1, ปี 2565, หน้า 129-141

นอกจากนี้จากผลงานวิจัย และสถิติการรักษายังไม่พบอาการข้างเคียงจากการสักยารักษา (เจ๋งมาก ๆ เลยครับ) ซึ่งรสยาของตำรับยารักษาโรคจะออกไปทางโซน “สุขุมร้อน” ครับ โดยคราว ๆ แล้วจะมีสมุนไพร (ที่เปิดเผยได้) อยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นลงในตารางเพื่อง่ายต่อการอ่านครับ (อัตราส่วน และวิธีการทำไม่สามารถเปิดเผยได้ หากอยากรู้ ต้องไปเรียนกับ อ.ชเอม โดยตรง // ท่านสอนดีมาก ๆ ครับ เป็นกันเอง และมีมุกตลกให้เราได้ขำอยู่เสมอ)

ตารางที่ 1 แสดงสมุนไพรที่นำมาหุงน้ำมันสัก

ยาหลัก ยารอง ยาประกอบ ยาแต่งกลิ่น
(บังวิชา) (บังวิชา) กระเทียม ผิวมะกรูด
ไพล ว่านน้ำ (บังวิชา)
ขมิ้นอ้อย น้ำมันมะพร้าว (บังวิชา)

 

การสักยารักษาลมเพลมพัด

โรคลมเพลมพัด หรือ ลมเพรำพะวาตะ (ตามอ้างอิงจากศิลาจารึกวัดโพธิ์) คือ อาการเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้   คนโบราณพากันเข้าใจว่า 

  1. ต้องคุณไสย์คุณผี (ผีทำ) คุณคน (คนทำ) หรือ ถูกของที่ผู้มีวิชาไสยศาสตร์ปล่อยมาตามลม ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บปวด เคลื่อนย้ายไปตามจุดต่าง ๆ
  2. คนเดินเข้าป่า แล้วอาจจะเผลอไปเหยียบจอมปลวกที่มีวิญญาณสถิตอยู่ หรือ เผลอไปลบหลู่เจ้าป่าเจ้าเขา

แพทย์แผนโบราณท่านว่า  คุณไสย์หลบหนีไปซ่อนตัวในตำแหน่งอื่น เพราะกลัวน้ำมนต์ โรคแบบนี้ก็จะมีสูตรตำรับเฉพาะในวิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ ก็จะ “สักยา” เพื่อถอนของ ถอนคุณไสย์ที่ทำให้เจ็บป่วย

หมอโบราณท่านว่า ให้พิจารณาดูว่าการเคลื่อนย้ายของจุดที่เกิดการเจ็บปวดเคล็ดขัดยอกนั้น เริ่มต้นที่จุดตำแหน่งใด ? มีแนวทางเคลื่อนย้ายอย่างไร ? แล้วจึงจะสามารถรักษาได้

ในส่วนของการกล่าวอ้างถึง ลมเพรำพะวาตะ ในจาลึกศิลาวัดโพธิ์ ก็จะระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากลมกองอะไรบ้าง มีจุดที่สำคัญ ๆ อยู่ ณ ส่วนใด ซึ่งรายละเอียดมีเยอะ หากสนใจสามารถ Comment มาได้ครับ หากมันมากพอ ผู้เขียนจะสรุปข้อมูลมาให้อ่านกันอีกครับ

 

สภาพปัจจุบันของการสักยารักษา

ปัจจุบัน การสักยาตามวิชาของพ่อแพง นาคะอินทร์ พบหมอที่ยังทำการรักษาอยู่ คือ พ่อพุทรา ตาบุดดา เนื่องจากพ่อแพงได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2559 ครับ

ในส่วนสายวิชาของหมอชเอม ขุมเพชร ได้มีผู้สืบทอดอยู่หลายท่านทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ผู้เขียนเอง” หากท่านใดชื่นชอบ สนใจ หรือ อยากลอง ก็สามารถเข้ามาหาได้ที่ พรหมวิหารคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ อ.เมือง จ.ลำพูน หรือ จองคิวรักษาได้ที่ 099-469-4249 ครับ

รูปที่ 8 สนใจอยากลองสักยารักษาโรค หรือ อยากท้าพิสูจน์ว่าสักยาแล้วจะหายจริงไหม สามารถโทรเข้ามาได้ที่ 099-469-4249 ครับ

หากใครอยู่แถว ๆ จ.แพร่ ก็สามารถแวะเข้าไปสักกับ หมอฝ้าย ได้ที่ โรงพยาบาลชุมชนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (อบจ.แพร่) และหากท่านใดอยู่แถวโซน จ.นครพนม สามารถเข้าไปที่ รักษ์นคร คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (หมอเจี๊ยบ) ได้เลยครับ

ปล. แต่ถ้าใครไม่ได้อยู่แถว ๆ จังหวัดดังกล่าว สามารถสอบถามเครือข่ายการ “สักยา” ตำรับ อ.ชเอม ได้ที่ “พรหวิหารคลินิก” หรือ ถามโดยตรงกับ อ.ชเอม ครับ

              

ข้อห้ามในการสักยา

  1. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
    • เนื่องจากการสักจะเจ็บระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะสามารถเพิ่มความดันโลหิตของคนไข้ได้ หากความดันเกินจุดที่ร่างกายรับไหวสามารถเกิดอาการ Shock ได้เลย
  2. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่แผลหายช้า และผู้ป่วยโรคไต (ที่บวม)
    • อันนี้ Sense อยู่แล้วเนื่องจากการสักสามารถทำให้ผิวหนังเกิดแผลเล็ก ๆ ได้ หากคนที่เป็นเบาหวาน หรือ แผลหายช้า ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดแผลเรื้อรัง
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง
    • เช่น กลาก เกลื้อน เป็นต้น
  4. ผู้ป่วยที่ข้อบวม แดง ร้อน
    • เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ และโรครูมาตอยด์ เนื่องจากการสักจะสามารถเพิ่ม หรือ กระตุ้น สารสื่ออักเสบได้มาก
    • หมายเหตุ: โรคแพ้ภูมิตัวเองบางรายสามารถสักได้ แต่บางรายไม่สามารถสักได้ เนื่องจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับยังไม่มีความชัดเจนมากพอ ดังนั้นจะขอเน้นความปลอดภัยไว้ก่อน คือ ยังไม่ควรสักยา ครับ

สรุป

การสักยาจัดเป็นกรรมวิธีด้านการแพทย์พื้นบ้านด้านสมุนไพร ลำดับที่ ๑๘ เป็นวิธีการให้ยา โดยการใช้เข็ม เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่มีความแหลมคม ทิ่มลงไป บนผิวหนัง พร้อมกับบริกรรมคาถา เพื่อนำยาสมุนไพรเข้าสู่ร่างกาย ช่วยลด อาการปวด ปรับสมดุลเลือดของร่างกาย ถอนพิษสัตว์ พิษงูกัด พิษแมงมุมกัด

 

เขียน และเรียบเรียง โดย

พท.ป. ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล

อ้างอิง

  1. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramalaser/th/knowledge/tattoo
  2. https://board.postjung.com/669782
  3. สุทธิรา ขุมกระโทก และคณะ, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 14 ฉบับที่ 2, ปี 2559, หน้า 212-216
  4. ศิริภัสสร บริบูรณ์ และคณะ, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 18 ฉบับที่ 2, ปี 2563, หน้า 43
  5. พรพรรณ คำมา และคณะ, วารสารหมอยาไทยวิจัย, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1, ปี 2565, หน้า 129-141
  6. ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน เเหลกเละ
  7. ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องกำหนดกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ด้านการแพทย์พื้นบ้านไทย พ.ศ. 2564
  8. กาญจนา การะแวง และคณะ, การศึกษาความรู้สังคายนาตำราการแพทย์แผนไทยด้านตำราหัตถศาสตร์ศิลาจาลึกวัดโพธิ์, พ.ศ. 2557

4 thoughts on “แพทย์แผนไทย กับ การสักยา

  1. วิลาสินี says:

    ข้อมูลการสักยา เป็นประโยนช์ต่อแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมาก สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการทุกข์ ได้ดีและเห็นผลชัดเจนโดยเร็วกว่าวิธีอื่น

    • admin says:

      ขอบคุณครับ // ฝากติดตามบทความต่อ ๆ ไปเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ ผมจะทยอยเขียนลงเรื่อยๆครับ

  2. Pingback: รักษาโรค “นิ้วล็อค” แบบ “ไม่ผ่าตัด” - พรหมวิหารคลินิก

  3. Pingback: หัตถการการรักษาของแพทย์แผนไทย - พรหมวิหารคลินิก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *