น้ำมันไพล แพทย์แผนไทย และวิทยาศาสตร์
หลาย ๆ คนปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออาจจะนึกการนวด และน้ำมันนวดก็มีหลากหลายตำรับด้วยกัน น้ำมันไพลจัดเป็นน้ำมันยอดนิยมที่หลาย ๆ คนนึกถึงเป็นอันดับแรก ดังนั้นบทความนี้เราจะดูกันว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร ทำไมน้ำมันไพลจึงแก้ปวดได้ และขั้นตอนการทำน้ำมันไพลทำอย่างไร (ใครชอบฟัง Padcast สามารถเสพ สาระดีๆ ได้ที่ด้านล่างได้เลยครับ)
ไพล คือ
ไพล คือ พืชที่เป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 0.7 – 1.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดินครับ เจ้าพืชตัวนี้มีหลายชื่อด้วยกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่ ถ้าไพลอยู่ในภาคเหนือก็จะรู้จักกันในชื่อ “ปูเลย” ครับ ดังนั้นเพื่อเป็นที่ให้เข้าใจกันในสังคมโลก นักวิทยาศาสตร์จึงได้ตั้งชื่อเอาไว้ว่า Zingiber cassumunar Roxb. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ Zingiberacece นั่นเองครับ

เหง้าไพลถูกมนุษย์นำมาใช้ปรุงยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นยาใช้ภายใน และภายนอกครับ ยกตัวอย่างยาที่ใช้ภายในก็เช่น ยาตำรับประสะไพล ที่สรรพคุณหลักในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ เป็นต้น เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ?
ตามหลักการแพทย์แผนไทย ยาตำรับประสะไพลประกอบด้วยตัวยารสร้อนฝาด เผ็ดร้อน และ ร้อนปร่า ทำให้ทั้งตำรับออกฤทธิ์ไปทางร้อน โดยมีตัวยารสฝาดช่วยสมาน คุมฤทธิ์ กำกับการทำงานของธาตุลม ทำให้มีการเคลื่อนไหวของธาตุลมดีขึ้น พอเหมาะ และสมดุล
และหลังจากที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้สุมหัวกันวิจัยเป็นเวลาหลายปีก็พบว่า ในเหง้าไพลมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการต้านอักเสบ ได้แก่
- Compound D
- Compound DMPBD [(E)-1-(3,4 dimethoxyphenyl) butadiene]
- Compound TMPBD [(E)-4-(2,4,5-trimethoxyphenyl) but-1,3-dien]
- Compound cassumunaquinones
- Compound cassumunins (สารที่เป็นสีเหลือง)
- อื่น ๆ
ซึ่งสารเหล่ามี Mechanism of action คือ ลดการทำงานของ “เอนไซม์ COX-II” หรือ “Cyclooxygenase II” ส่งผลให้การอักเสบ และอาการปวดลดลงนั่นเองครับ

น้ำมันไพล คือ
น้ำมันไพล คือ หนึ่งในหลาย ๆ ตำรับน้ำมันสมุนไพรที่นิยมใช้ในการรักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 และบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร กลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อ และกระดูก (สำหรับใช้ภายนอก) ครับ
น้ำมันไพลมีอยู่หลายตำรับด้วยกัน ส่วนใหญ่จะไม่ใช้สมุนไพรเดี่ยวมาปรุงยา นั่นหมายความว่า “น้ำมันไพล” จะต้องใช้เครื่องยาอื่น ๆ ผสมลงไปด้วยครับ บางสูตรก็จะผสม ดอกกานพลู เถาเอ็นอ่อน ขิง ข่า และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ขมิ้น ครับ
สรรพคุณยาของน้ำมันไพล
สรรพคุณของน้ำมันไพลหลัก ๆ คือ การบรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก รองลงมาก็จะเป็นในส่วนของการแก้ฟกบวม ฟกช้ำ เป็นต้น บางท่านก็นำไปนวดแก้เส้นหย่อนในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ – อัมพาตครับ

กลไกการออกฤทธิ์ของไพล
ตามผลการวิจัยระบุเอาไว้ว่า กลไกการออกฤทธิ์หลัก ๆ ของไพล คือ การลดการทำงานของ “เอนไซม์ COX-II” (COX-II inhibitor) ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในกระบวนการปวด และอักเสบนั่นเองครับ นอกจากนี้ “ไพล” ยังสามารถลดการองค์ประกอบของเซลล์ (Down-Regulation) ในการแสดงออกถึงยีน (gene) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของ “ข้อ” ในคนไข้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ได้อีกด้วย
ตามหลักการแพทย์แผนไทย (คัมภีร์ธาตุวิวรณ์, คัมภีร์ธาตุวิภังค์, และคัมภีร์ธาตุวินิจฉัย) ระบุเอาไว้ประมาณนี้ครับว่า ยารสฝาดนั้นซาบมังสัง (เนื้อ) และนหารู (เส้นเอ็น) ทั้งหลาย (สมานธาตุดิน)… ซึ่งรสฝาดจะซึมซาบธาตุดินที่มีการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ คือ มีการยืดขยาย (อากาศธาตุเพิ่มขึ้น) และหดตัว (อากาศธาตุน้อยลง) อยู่เสมอ เช่น เนื้อ เส้นเอ็น ผิวหนัง เป็นต้น
เมื่อยารสฝาดซึมซาบเข้าไปแล้ว ธาตุดินจะเกิดความหยืดหยุ่นจากการกระทบความร้อน และมีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เรามักจะเห็นการใช้ยารสฝาดเพื่อช่วยรักษาความบริบูรณ์ของธาตุดิน
ไพล หรือ ปูเลย เป็นยารสฝาดร้อน จึงช่วยรักษาอาการฟกซ้ำเคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น… เราจะเห็นได้ว่า ไพล เป็นสมุนไพรบำรุงธาตุดินที่
- ไม่ให้ธาตุไฟกำเริบ (อาการช้ำ)
- ไม่ให้ธาตุลมกำเริบ (อาการฟก)
- ไม่ให้ธาตุน้ำกำเริบ (อาการบวม)
- และช่วยไม่ให้ธาตุลมเคลื่อนเวียนได้ ซึ่งลมดังกล่าวอาจจะเป็น ลมวาโยโผฏฐัพพะเป็นลมที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น ความเจ็บปวด

วิธีการหุงน้ำมันไพล
การเจียว หรือ ทอด หรือ หุง น้ำมันไพล มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งปัจจุบันเรามักคุ้นชินกับคำว่า “การสกัด” ซะมากกว่า โดยบทความจะขอแยกย่อยการทำออกเป็น 3 แบบหลัก ๆ ดังนี้
แบบอิงอายุรเวทผสมผสานไสยเวท
ข้อมูลจาก อ.อัมรินทร์ สุขสมัย แห่งสำนักสัชฌายะ รสายนเวท ได้กล่าวเอาไว้ว่า กรรมวิธีการหุงว่านยาแบบนี้จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยผลทางด้านโอสถศาสตร์ และไสยศาสตร์ในคราวเดียวกัน หรือจะกล่าว คือ การทำน้ำมันไพลแบบผสมผสานระหว่าง “องค์ภูมิความรู้ด้านอายุรเวท” กับ “ไสยเวท” ครับ
น้ำมันมนต์สัตตปัฏฐาน สร้างจากตำรับการหุงน้ำมันไพลในตำราโอสถศาสตร์ การหุงว่าน เป็น Technical Term ที่คุ้นชินปากของคนสมัยโบราณ ซึ่งนอกจากการนำว่านลงไปเจียวในน้ำมันอย่างที่เห็นแล้ว จะต้องผ่านกระบวนการหุงบ่มน้ำมัน เพื่อให้ได้คุณทางฤทธิ์ยา และความเชื่อทางวิทยาคม
ตัวว่านยาหลักคือ ไพล และขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย หุงเคี่ยวในน้ำมันจนน้ำมันในหัวไพลแตกตัว ผสมเข้าร่วมกับเครื่องยา “รสาย” ที่มีรสร้อนเย็น ส่งผลทางด้านการบำบัดรักษา

เครดิตรูปจาก อ.อัมรินทร์ สุขสมัย จากสำนักสัชฌายะ รสายนเวท
การเจียว หรือ การหุง น้ำมันไพลควรจะใช้กำลังไฟที่ไม่แรงเกินไป ไม่อ่อนเกินไป ทั้งนี้ภูมิปัญญาโบราณอย่างหนึ่งที่ต้องการบ่งชี้ความร้อน และความแรงของไฟ โดยสอนผ่านตำราความเชื่อในเรื่องของการเลือกใช้ไม้มงคล เป็นเชื้อฟืน เช่น ไม้ไผ่ ไม้กระท้อน ไม้ยม ไม้โมก เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม้เหล่านี้ ประกอบด้วยชื่อนามมงคล แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นไม้เนื้ออ่อนทั้งสิ้น ซึ่งให้เชื้อไฟไม่ร้อนแรงมากนัก

เครดิตรูปจาก อ.อัมรินทร์ สุขสมัย จากสำนักสัชฌายะ รสายนเวท
เมื่อหุงสำเร็จขึ้นเป็นน้ำมันมนต์ นำมาเสกสัมทับตามตำรับวิชา มนต์สัตตปัฏฐาน ตามคัมภีร์มหาปัฏฐาน และเสกตามตำรับวิชามนต์สัพพาสี มหาไวยนาถ
น้ำมันมนต์ไพลแบบนี้สร้างตามตำรับโบราณครบถ้วนทั้งโอสถศาสตร์ และไสยเวทวิทยาคม สามารถบำบัดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดติดขัด เลือดลมเดินไม่สะดวก หรือ นำทานวดเฟ้นบริเวณที่เจ็บป่วยจากลมเพลมพัด ถอนอาถรรพ์เสนียดภูตพรายเกาะรังควาญ
“นับเป็นภูมิปัญญาโบราณที่สอดแทรก สั่งสอนกรรมวิธีการกระทำการต่างๆ เพื่อให้สมบูรณ์ชัดเจนมากที่สุด”
แบบอิงตำราปรุงยาแผนโบราณทั่วไป
การเจียวนำมันไพลมีหลากหลายตำราด้วยกัน ในบทความนี้จะขอแจกอยู่ 2 สูตรแล้วกันครับ สูตรแรกจะมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และสูตรที่สองจะมาจาก ม.มหิดล ครับ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ส่วนประกอบ | |
น้ำมันมะพร้าว | 100 mL |
ไพลแก่ อายุอย่างน้อย 1 ปี | 100 g |
ผักเสี้ยนผี | 50 g |
ดีปลีเชือก | 10 g |
ขมิ้นอ้อย | 10 g |
ดอกกานพลูป่น | 10 g |
น้ำมันยูคาลิปตัส | 10 cc |
น้ำมันระกำ | 20-50 cc |
พินเสน/การบูร/เมนทอล | 30:30:90 g |
การเตรียมส่วนผสมน้ำมัน | |
1 | หั่นไพลขมิ้นอ้อย ผักเสี้ยนผี และดีปลีเชือกเป็นชิ้นบาง ๆ |
2 | นำไปทอดในน้ำมันมะพร้าว ทอดไฟอ่อน ๆ ประมาณ 0.5ชั่วโมง จนไพลกรอบ |
3 | ก่อนนำลงจากเตา ให้ใส่ดอกกานพลูลงไป ทิ้งไว้สักครู่ |
4 | นำน้ำมันไพลที่ได้ กรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำมันไพลสีเหลือง |
การเตรียมส่วนผสมตัวทำให้ร้อน | |
1 | นำพิมเสน การบูรและเมนทอล ผสมกันในขวดแก้วหรือภาชนะแก้วที่มีฝาปิด เขย่าให้ละลายเป็นน้ำใส ๆ หรือปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน (จนละลายเป็นน้ำเรียบร้อยแล้ว) และเติมน้ำมันยูคาลิปตัส |
2 | ผสมกับน้ำมันไพล คนให้เข้ากัน |
3 | นำไปชั่ง ตวง และบรรจุใส่ขวดที่เตรียมไว้ พร้อมใช้งานหรือจำหน่ายต่อไป |
ม.มหิดล
ส่วนประกอบ | |
หัวไพลสด | 2.0 kg |
ขมิ้นชันสด | 0.5 kg |
น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว | 1.0 kg |
ดอกกานพลู | 100 g |
การบูร | 100 g |
วิธีทำ | |
1 | หั่นไพลสด และขมิ้นชันสด ให้เป็นชิ้นบาง ๆ |
2 | เทน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว ลงกระทะยกตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนปานกลาง เอาไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน (เหมือนทอดกล้วยแขก) ทอดจนไพลและขมิ้นชันกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส (ระวังไหม้) ช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก |
3 | ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อและลดไฟให้เหลือไฟอ่อน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง |
4 | พอน้ำมันอุ่น ๆ ผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงในภาชนะที่สามารถปิดฝาให้สนิทป้องกันการระเหยได้ แล้วเทบรรจุลงขวดเล็กปิดฝาให้แน่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป |
แบบประยุกต์วิทยาการสมัยใหม่
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การสกัดถูกนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเทคนิค การกลั่นโดยการต้มด้วยน้ำ (water distillation) และ การกลั่นโดยใช้การผ่านของไอน้ำเข้าสู่ภาชนะที่มีไพลบรรจุอยู่ (steam distillation) เป็นต้น ซึ่งคงจะขอกล่าวโดยละเอียดในบทความต่อไปครับ (เนื้อหาเยอะมาก ผู้เขียนจะตุย)
บทสรุป
โดยสรุปแล้วน้ำมันไพลที่หุงด้วยกรรมวิธีใดก็สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการปวด และต้านอักเสบได้ทั้งสิ้น ยิ่งนวดเป็นแล้วทาน้ำมันไพลตามแล้วล่ะก็ หายไวนักแล ส่วนใครโดยลมเพลมพัด หรือ ถูกไสย ต้องเสนียด ก็ลองหาน้ำมันไพลที่หุงตามกรรมวิธีผสมผสานไสยเวทมาใช้ได้ครับ
เขียน และเรียบเรียง โดย
พท.ป. ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล
อ้างอิง
- https://www.opsmoac.go.th/surin-local_wisdom-preview-422891791841
- https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/346/ยาตำรับประสะไพล-ปวดประจำเดือน/
- Chaiwongsa R, Ongchai S, Boonsing P, Kongtawelert P, Panthong A, Reutrakul V. Active compound of Zingiber cassumunar Roxb. down-regulates the expression of genes involved in joint erosion in a human synovial fibroblast cell line. Afr J Tradit Complement Altern Med. 2012 Oct 1;10(1):40-8. doi: 4314/ajtcam.v10i1.7. PMID: 24082324; PMCID: PMC3746356.
- หนังสือกลไกการออกฤทธิ์รสยา 10 จากคัมภีร์แพทย์แผนไทยและพระไตรปิฎก, พท.ป.ธรรพันธ์ บางขันธ์, 2564
- https://www.facebook.com/satchaya56/videos/823711935018701
- เอกสารบริการวิชาการ การต่อยอดน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำมันเหลืองสมุนไพร”, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
Pingback: หัตถการการรักษาของแพทย์แผนไทย - พรหมวิหารคลินิก