การประเมินผลการรักษาโรคตาด้วยวิธีการบ่งต้อด้วยหนามหวาย โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จังหวัดชัยนาท
วัชราภรณ์ อรุณเมือง, ศุภะลักษณ์ ฟักคำ, และยงยุทธ วัชรดุลย์
บทคัดย่อ
บทนำ: สภาการแพทย์แผนไทยประกาศกำหนดให้การบ่งต้อเป็นหัตถการเพื่อรักษาอาการหรือความผิดปกติของดวงตา เป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ด้านการแพทย์พื้นบ้านไทย
วัตถุประสงค์: การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการมองเห็นก่อน และหลังการรักษาโรคตาด้วยวิธีการบ่งต้อด้วยหนามหวายในผู้ป่วยที่มีปัญหาการมองเห็น และประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการดังกล่าว
ระเบียบการวิจัย: ผู้ทำการรักษาเป็นแพทย์แผนไทยชำนาญการที่ได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้จากการบ่งต้อด้วยหวายจากหมอชะเอม ขุมเพชร ทำการรักษาติดต่อกัน 3 วันวัดผลการรักษาก่อนเข้ารับการรักษาวันที่ 1 และหลังทำการรักษาวันที่ 3 วิธีการวัดผลจากการประเมินความสามารถในการมองเห็น คือ ระดับการมองเห็น (Visual Acuity; VA) ของผู้ป่วยโรคตาที่คลินิกการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จำนวน 40 ราย
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคตาเป็นเพศหญิง 26 ราย (ร้อยละ 65) ผู้ป่วยมีโรคและอาการแสดงทางดวงตาจากมากที่สุดเป็นโรคต้อลมไปหาน้อยคือ โรคต้อเนื้อ โรคต้อกระจกและโรคต้อหิน ตามลำดับ ผลการรักษาโดยวัดจากความผิดปกติของระดับการมองเห็นในอาสาสมัครก่อนการรักษา และหลังการรักษา พบว่า ผลการตรวจวัดสายตาของอาสาสมัครมีระดับการมองเห็นดีขึ้นทั้งหมด เมื่อนำค่าระดับการมองเห็น (Visual Acuity) แปลงผลเทียบกับแผนภูมิ LogMAR (Logarithm of the Minimum Angle of Resolution) แล้วนำจึงค่าที่ได้มาทดสอบด้วยสถิติ paired t test พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในทุกข้อที่สอบถาม
สรุป: ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยการใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการสำหรับยืนยันผลการรักษาโรคตาด้วยวิธีการบ่งต้อด้วยหนามหวาย ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ป่วย และสหวิชาชีพ รวมถึงเพื่อพัฒนาเป็นโปรแกรมการรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาร่วมกับสหวิชาชีพต่อไป งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่าการทำวิจัยครั้งต่อไปควรมีสหวิชาชีพ เช่น จักษุแพทย์ในการวินิจฉัยโรค ตรวจดวงตาให้กับผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ข้อมูล
คำสำคัญ: การบ่งต้อ โรคต้อ หนามหวาย
Pingback: การบ่งต้อ คติความเชื่อ และข้อเท็จจริง - พรหมวิหารคลินิก