การศึกษาองค์ความรู้พื้นบ้านในการรักษาโรคต้อกระจก โดยการบ่งต้อด้วยหนามหวายขม กรณีศึกษาหมอชเอม ขุมเพชร
สายจิต สุขหนู, สิทธิศักดิ์ ติคำ, เบญญารัตน์ รอทอ, สุภาวดี สานะ, และ ภัทราพร บุญมี
บทคัดย่อ
บทนำ: หมอพื้นบ้านยังคงเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยที่เชื่อมั่นในองค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านในการรักษาโรคเกี่ยวกับตา และโรคต้อต่าง ๆ
วัตถุประสงค์: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ และวิเคราะห์องค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านในการรักษาโรคต้อกระจก โดยการบ่งต้อด้วยหนามหวายขมของหมอชเอม ขุมเพชร ต.นาทุ่ง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
ระเบียบการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม โดยคัดเลือกหมอพื้นบ้านแบบเจาะจงจำนวน 1 ท่าน ได้แก่ หมอชเอม ขุมเพชร ได้ศึกษาองค์ความรู้การรักษาโรคต้อกระจกจากหมอสงคราม อินบัว และฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดความชำนาญสามารถรักษาผู้ป่วยได้ และศึกษาประสิทธิผลและความพึงพอใจหลังการรักษาของผู้ป่วย จำนวน 20 คน
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.00 มีอายุในช่วง 51 – 60 ปี ร้อยละ 50.00 ผู้ป่วยเป็นโรคต้อกระจกมาแล้ว 1 – 5 ปี ร้อยละ 45.00 ส่วนใหญ่มารับการรักษาด้วยอาการมองไม่ชัด ตาพร่ามัว มีน้ำตาไหล มีขี้ตา ตาแฉะ ร้อยละ 40.00 มีอาการมองไม่ชัด ตาพร่ามัว คันตา ตาแห้ง แสบตา ร้อยละ 30.00 และเมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีการบ่งต้อด้วยหนามหวายขม อาการคันตา ตาแห้ง แสบตาหายไป ร้อยละ 30.00 อาการน้ำตาไหล มีขี้ตา ตาแฉะหายไป ร้อยละ 25.00 โดยยังมีอาการอยู่บ้างเล็กน้อย ร้อยละ 15.00 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น มองเห็นได้ชัดขึ้น และพบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อผลการรักษาในระดับมากที่สุด โดยผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในหมอพื้นบ้านอย่างมาก
สรุป: การใช้องค์ความรู้พื้นบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจก ดังนั้นผู้วิจัยเห็นว่าควรเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาดังกล่าวนี้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาคนในชุมชนเกี่ยวกับโรคต้อต่าง ๆ และยังก่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์ความรู้พื้นบ้านต่อไป
คำสำคัญ: หมอพื้นบ้าน, บ่งต้อ, โรคต้อกระจก
คลิ๊กเลย
Pingback: การบ่งต้อ คติความเชื่อ และข้อเท็จจริง - พรหมวิหารคลินิก