การศึกษาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชรกรณีศึกษาของหมอชเอม ขุมเพชร
เอมอร พรมแก้วม วรินทร ทีเวียง, นฤพร สิริธุวานนท์
บทคัดย่อ
บทนำ: หมอพื้นบ้านเป็นบุคคลที่ ได้รับการเรียนรู้ระบบการรักษาโรคแบบประสบการณ์ของชุมชนที่ได้รับการสั่งสม และสืบทอดตามบรรพบุรุษ ได้รับการยอมรับเชื่อถือจากชุมชนให้เป็นผู้ดูแลสุขภาพ การแพทย์แผนไทยถูกละเลยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ สูญหายกระจัดกระจาย ผู้ทรงความรู้หมอพื้นบ้านที่มีความรู้ความชำนาญเป็นที่ยอมรับของชุมชนยังมีเหลือไม่มากนัก การวิจัยเรื่องการศึกษาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชร กรณีศึกษาของหมอชอม ขุมเพชร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน ด้านวิธีการรักษาของหมอชอม ขุมเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ไว้อย่างเป็นระบบและศึกษาบทบาทและปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้าน
วิธีดำเนินงานวิจัย: เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้โดยแบบสัมภาษณ์แบบเชิงลึกและการสังเกตแบบมีส่วนร่วม จากหมอพื้นขั้นที่ทำการรักษา และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน
ผลการศึกษา: การศึกษาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชร กรณีศึกษาของหมอชอม ขุมเพชร พบว่าเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้มาเป็นหมอพื้นบ้าน คือการที่มีบรรพบุรุษเป็นหมอพื้นบ้าน ความรู้ที่ใช้ในการรักษาส่วนใหญ่จะบันทึกไว้ในความทรงจำ คนไข้ที่มารับการรักษามีทั้งคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ในการรักษาโรคของหมอชอม ขุมเพชร จะเริ่มจากกรซักประวัติคนไข้และการตรวจร่างกาย โดยจะใช้ศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน และการดูแลกายและจิตใจ โดยจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรคหมอพื้นบ้านจะใช้สมุนไพร การนวด การกดจุด การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้อง ร่วมกับการใช้คาถาในการรักษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างหมอพื้นบ้านกับผู้ป่วยเหมือนน้ำกับเรือ เหมือนเสือกับป่า ต้องพึ่งพาอาศัยกันแบบแยกกันไม่ได้ หมอพื้นบ้านจะมีข้อปฏิบัติพิเศษ คือ การถือศีล หมั่นทำบุญ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ประพฤติตนให้เสื่อม และห้ามกินอาหารบางชนิด คนไข้ส่วนใหญ่มีความเชื่อและความศรัทธาในตัวของหมอพื้นบ้าน ทำให้มีระดับความพึงพอใจในการให้บริการอยู่ในระดับดีมาก
สรุป: จากผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านเป็นศาสตร์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อาศัยความเชื่อ ความศรัทธา และอาศัยทรัพยากรท้องถิ่นเป็นหลัก มีการรักษาทั้งกายและใจควบคู่กันไป การรักษาเป็นเรื่องของบุญคุณ ไม่ใช้การเรียกร้องค่าตอบแทน และจากการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่าองค์ความรู้ดังกล่าวไม่มีการบันทึกข้อมูลเก็บไว้ ทำให้องค์ความรู้จะสูญสิ้นไปพร้อมกับหมอพื้นบ้าน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้การแพทย์พื้นบ้านคงเสื่อมคุณค่าและสูญสิ้นไปในที่สุด