หัตถการการรักษาของแพทย์แผนไทย

ฉบับย่อ

  • แพทย์แผนไทย และ แพทย์แผนไทยประยุกต์ คือ หมอไทยที่ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เช่น การใช้สมุนไพร การนวด การสักยา การบ่งต้อ และอื่น ๆ เป็นต้น
  • กรรมวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยตาม พ.ร.บ. ปี พ.ศ. 2556 มีทั้งหมด 26 วิธี

หัตถการการรักษาของแพทย์แผนไทย

แพทย์แผนไทย คือ อะไร หลาย ๆ คนอาจจะทราบกันแล้ว แต่ปัจจุบันหากกล่าวถึงแพทย์แผนไทย หลาย ๆ คนมักจะนึกถึง “การนวด” เป็นสิ่งแรก และอาจจะตามมาว่าภาพของสมุนไพรใช่ไหมล่ะครับ แต่รู้หรือป่าวว่า แท้จริงแล้วแพทย์แผนไทยมีการรักษา หรือ หัตถการ มากถึง 26 วิธีเชียว (นี่ยังไม่นับรวมการรักษาของหมอพื้นบ้านนะครับ) เรามาดูกันดีกว่าว่า 26 วิธีดังกล่าวมีอะไรบ้าง?

การเขี่ยเส้น

การเขี่ยเส้น คือ รูปแบบการนวดโดยการใช้นิ้วกดเส้นเอ็น ดันเข้าและดันออกบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ได้แก่ ร่องไหล่, สะบัก, ข้อพับแขน/ขา, ใต้หน้าอก, หน้าแข้ง, และข้อเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดออกเป็นปกติ

การเช็ด

การเช็ค คือ วิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยน้ำมันและใบไม้ เช่น ใบพลู, ใบผักดีด เป็นต้น โดยการลูบไปตามอวัยวะบริเวณที่มีอาการเจ็บปวดหรือบวม การวินิจฉัยดูได้จากลักษณะใบไม้หลังการลูบหรือใบไม้ที่ติดค้างอยู่ เกิดจากคุณผี คุณไสย การรักษาจะใช้ในกรณีที่อาการเจ็บป่วยไม่มาก เช่น อาการปวดเมื่อยจากการเดินของเลือดลมไม่สะดวก ลมเข้าเส้นเอ็น ขี่กังวล เป็นต้น

การแหก

การแหก คือ วิธีการรักษาโดยการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการแหกขูดลงบนบริเวณที่เชื่อว่ามีพิษอยู่พร้อมทั้งบริกรรมและเสกคาถาใส่อุปกรณ์ เพื่อไล่พิษนั้นออกจากร่างกาย

การเป่ายา

การเป่ายา คือ วิธีการรักษาโดยการนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาทางปากในลักษณะเป่าให้พุ่งออกมาเป็นฝอย เช่น สมุนไพร น้ำมนต์ ลม หรืออื่นๆ เป็นต้น บางกรณีมีการบริกรรมคาถาร่วมด้วย

การเผายา

การเผายา คือ วิธีการรักษาโดยการ ใช้ยา ซึ่งนำเอาเครื่องยาสมุนไพรวางไว้บริเวณที่ต้องการรักษาแล้วจุดไฟเผาเครื่องยา เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น เผายาจับโปงน้ำ เป็นต้น

การเหยียบยา

การเหยียบยา คือ รูปแบบการนวด โดยการใช้ความร้อนและแรงกดจากเท้าในการรักษา มีการลงคาถาดับพิษไฟ ก่อนใช้เท้าจุ่มน้ำขา (น้ำไพล หรือ น้ำมันเงา) เหยียบลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วนำไปเหยียบลงบนร่างกาย หรืออวัยวะส่วนที่ต้องการรักษา เพื่อคลายเส้นและบรรเทาอาการปวด ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ปวดข้อ อัมพฤกษ์ อัมพาต

การแช่ยา

การแช่ยา มีนัยอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  • วิธีการเตรียมยา โดยนำสมุนไพรมาแช่ในน้ำหรือของเหลวชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วนำมาใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วย เช่น ตำราใบลานให้ใช้ใบเล็บครุฑมาสับ แล้วแช่ผสมด้วยข้าวสารเจ้า รับประทานแก้อาการปวดหัว เป็นต้น
  • วิธีการเตรียมยา โดยนำยาสมุนไพรมาต้ม แล้วกรองเอาน้ำยาหรือกรรมวิธีอื่นๆ ซึ่งได้มาของตัวยา แล้วให้ผู้ป่วยแช่ อาจเป็นการแช่ทั้งตัวหรือเฉพาะส่วนที่เป็นโรคก็ได้ นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการให้ตัวยาซึมลงสู่ชั้นใต้ผิวหนังลึกลงไปมากกว่าการอาบหรือทา
ตัวอย่างการแช่ตัว

การกรอกเลือด

การกรอกเลือด คือ วิธีการรักษา โดยการกรีดหรือสักลงไปที่ผิวหนังให้เปิดเพียงเล็กน้อย ให้เลือดออกมาโดยจะ ใช้ถ้วยแก้วที่ไล่ลมแล้ววางปากแก้วครอบบริเวณที่บาดนั้น เลือดก็จะซึมออกมาพอได้เลือดพอสมควรแล้วจึงหยุดและห้ามเลือด เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดูดพิษออกจากร่างกาย กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

การกวาดยา

การกวาดยา คือ วิธีการให้ยา โดยการ ใช้นิ้วมือแตะยาแล้วป้าย ในปาก คอ ลิ้นของทารกและเด็ก บริเวณอวัยวะที่เป็น

การขัด การถู ด้วยสมุนไพร

การขัด การถู ด้วยสมุนไพร คือ วิธีการให้ยาเฉพาะที่ โดยการออกแรงให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังเข้าไปหรือทำให้ส่งที่ไม่ต้องการหลุดออกมา โดย

  • ถู เป็นการออกแรงโดยการไถไปมา
  • ขัด เป็นการออกแรงโดยการไถไปมา อย่างแรง
  • สี เป็นการออกแรงโดยการครูดไปมา แบบถี่ ๆ ซ้ำ ๆ

การชโลมยา

การชโลมยา คือ วิธีการให้ยา โดยการใช้ผ้าชุบหรือใช้มือวักน้ำยาสมุนไพร มาแตะตามร่างกายบริเวณที่มีความร้อน ให้เปียกชุ่ม เช่น การชโลมน้ำขา สมุนไพรในผู้ป่วยที่มีไข้สูง เป็นต้น

การตอกเส้น

การตอกเส้น คือ รูปแบบการนวด โดยใช้อุปกรณ์ : ชิ้น คือ ชิ้นแรกเป็นอุปกรณ์รองรับ และชิ้นที่สองเป็นตัวที่ใช้ตอก โดยนำมาตอกตามบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย

การทายา

การทายา คือ วิธีการใช้ยาที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือผงละเอียด โดยการใช้มือ หรือ วัสดุอื่น ๆ ป้ายลงบนบริเวณที่เป็น แล้วลูบเพื่อให้ขาที่ทาบนผิวสม่ำเสมอ เช่น ทาปูนแดง รักษาโรคลมปราบเส้น ดินสอพองผสมน้ำมะนาวทาบริเวณ ที่ฟกช้ำ เป็นต้น

การนวด การนวดด้วยยา หรือ น้ำมันหอมระเหย

การนวด คือ การใช้มือ แขน ศอก เข่า เท้าหรืออวัยวะอื่นใด รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์อื่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ บำบัดโรคหรืออาการเจ็บป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายหรือบางกรณีเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค

การนัตถุ์ยา

การนัตถุ์ยา คือ วิธีการให้ขา โดยนำตัวขาสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดมาใส่กล้องแล้วเป้าเข้าทางจมูก

การบ่ง หรือ บีบเส้น

การบ่ง หรือ บีบเส้น คือ รูปแบบการนวด โดยการจับกล้ามเนื้อ ใช้แรงบีบจากนิ้วมือทั้งหมดบีบกล้ามเนื้อเข้าหากัน บางครั้งใช้แรงยกกล้ามเนื้อด้วย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณอวัยวะที่ปวดได้ดีขึ้นช่วยลดอาการกล้ามเนื้อตึง หดเกร็ง และแข็งตัว

การบ่งต้อ

การบ่งต้อ คือ เป็นวิธีการรักษาอาการหรือความผิดปกติของดวงตา เช่น ต้อเนื้อ ต้อลมอาการแสบตา จอประสาทตาเสื่อม และอาการอื่นๆ โดยการใช้หนามหวายขม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ดึงเส้นใยที่เกิดขึ้นในจุดรอยโรคที่อยู่บริเวณแผ่นหลังของผู้ป่วยโดยมิได้กระทำใด ๆ ต่อดวงตาโดยตรง

ตัวอย่างการบ่งต้อด้วยหนามหวายขม ตามสายวิชา หมอชเอม ขุมเพชร

การประคบสมุนไพร

การประคบสมุนไพร คือ วิธีการนาบและกดคลึงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้ความร้อน อาจมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ เช่น ลูกประคบสมุนไพรก้อนเส้าห่อด้วยสมุนไพร เป็นต้น

การย่างยา

การย่างยา คือ วิธีการเตรียมยาสมุนไพร โดยการให้ความร้อนกับสมุนไพรโดยตรง เพื่อให้ตัวยาสมุนไพรออกฤทธิ์ได้ เช่น นำใบพลับพลึงมาย่างก่อนนำไปประคบ เป็นต้น

การย่ำขาง

การย่ำขาง คือ รูปแบบการนวด โดยการใช้ความร้อนและแรงกด จากเท้าในการรักษามีการลงคาถาดับพิษไฟ ก่อนใช้เท้าจุ่มน้ำขา (น้ำไพลหรือน้ำมันงา) เหยียบลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วนำไปเหยียบลงบนร่างกาย หรือ อวัยวะส่วนที่ต้องการรักษา เพื่อคลายเส้นและบรรเทาอาการปวดส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นปวดข้อ อัมพฤกษ์ อัมพาต

การรมยา

การรมยา คือ วิธีการใช้ยา โดยการใช้ควันหรือไอน้ำจากการเผาสมุนไพร หรือ ต้มน้ำสมุนไพร เพื่อรักษาโรคเฉพาะที่ เช่น หอบหืด ริดสีดวงจมูกแผลฝีเย็บหลังคลอด เป็นต้น

การสอดยา หรือ การเหน็บยา

การสอดยา หรือ การเหน็บยา คือ วิธีการ ใช้ยาหรือให้ยา โดยการใส่ยาที่เตรียมไว้ เป็นแท่ง เข้าไปในช่องทวาร เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่เช่น การนำสมุนไพรที่เป็นผงมาตอกอัดในกระบอกไม้ไผ่ให้เป็นแท่ง แล้วผ่ากระบอกไม้ไผ่นำแท่งยาไปสอดทวารหนักรักษาริดสีดวงทวาร หรือ ใช้ใบพลูทุบให้นิ่มม้วนแล้วสอดเข้าไปในช่องจมูก เพื่อหยุดเลือดกำเดาที่ไหล เป็นต้น

การสักยา

การสักยา คือ วิธีการให้ยา โดยการใช้เข็ม เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่มีความแหลมคมทิ่มลงไปบนผิวหนัง เพื่อนำยาสมุนไพรเข้าสู่ร่างกาย ช่วยลดอาการปวดปรับสมดุลเลือดของร่างกาย ถอนพิษสัตว์พิษกัดงูกัด

ตัวอย่างการสักยา

การสุมยา

การสุมยา คือ วิธีการใช้ยาสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย มาผสม ต่ำพอก เพื่อให้ได้ไอสมุนไพรเข้าไปทางจมูกหรือทางผิวหนัง เช่น การสุมกระหม่อมเด็ก เป็นต้น

การอบด้วยไอน้ำ และ ไอร้อน หรือ สมุนไพร

การอบด้วยไอน้ำ และ ไอร้อน หรือ สมุนไพร คือ วิธีการใช้ยา โดยนำตัวยามาต้มให้เกิดไอน้ำ เพื่อใช้ ไอน้ำในการอบ หรือ รมในกระโจมหรือห้องอบ ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังผื่นคัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ขับน้ำคาวปลา บำรุงผิวพรรณ เป็นต้น

การอาบยา

การอาบยา คือ วิธีการใช้ยา โดยนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด มาต้มกับน้ำแล้วนำมาอาบรักษาโรค

 

รวบรวมและเขียนโดย

พท.ป.ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล บรรณาธิการ

 

อ้างอิง

  1. เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย, พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *