รูปที่ 1 แสดงถึงการอักเสบของปลอกเส้นเอ็น digital flexor tendon ของนิ้วมือ บริเวณ A1-Pulley ดัดแปลงรูปจาก : https://www.handtoshouldertexas.com/trigger-finger

รักษาโรค “นิ้วล็อค” แบบ “ไม่ผ่าตัด”

รักษาโรค “นิ้วล็อค” แบบ “ไม่ผ่าตัด”


โรคนิ้วล็อค หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ (Trigger finger & Trigger thumb) เป็นการเสื่อมของร่างกาย หรือ การใช้งานมากเกินไป พบได้บ่อย และสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยมากพอสมควร

หากจะเปรียบเทียบกับทางศาสตร์การแพทย์แผนไทยพบว่า โรคนิ้วล็อค  สอดคล้องกับ “โรคลมปลายปัตฆาตนิ้วมือ” หรือ “โรคนิ้วไกปืน” ผู้เขียนขอให้ข้อมูลไว้แบบนี้ก่อนครับว่า โรคนี้สามารถป้องกัน และรักษาให้หายขาดได้ (ไม่ต้องผ่าตัดก็หายได้) ดังนั้นใครที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่ขอให้สบายใจได้เลยครับ 

สาเหตุหลัก ๆ ของนิ้วล็อค

  1. ใช้งานมากจนเกินไป หรือ การใช้งานซ้ำๆ จนทำให้ปลอกเส้นเอ็น Digital flexor tendon มีอาการอักเสบ และตีบแคบลง (รูปที่ 1) ส่งผลให้เกิดการหนาตัวขึ้นของ Pulley ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มขัดของเส้นเอ็นนิ้วมือ
  2. เกิดจากการไม่ใช้งาน (ผู้ป่วยอัมพาต) จึงทำให้ไม่เกิดการเคลื่อนไหว

ด้วยเหตุทั้ง 2 ประการนี้ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้ไม่เป็นปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด หรือ นิ้วล็อคอยู่ในท่า “งอ” และ “เหยียด” นิ้วออกเองไม่ได้นั่นเอง

รูปที่ 1 แสดงถึงการอักเสบของปลอกเส้นเอ็น digital flexor tendon ของนิ้วมือ บริเวณ A1-Pulley ดัดแปลงรูปจาก : https://www.handtoshouldertexas.com/trigger-finger
รูปที่ 1 แสดงถึงการอักเสบของปลอกเส้นเอ็น digital flexor tendon ของนิ้วมือ บริเวณ A1-Pulley
ดัดแปลงรูปจาก : https://www.handtoshouldertexas.com/trigger-finger

สิ่งที่ตรวจพบเมื่อเป็นนิ้วล็อค

ใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเอง หรือ คนใกล้ตัวกำลังจะเป็นนิ้วล็อคอยู่สามารถ ตรวจร่างกาย ด้วยตัวเองเบื้องต้นแบบนี้ครับ

  1. กดเจ็บบริเวณ Pulley ตำแหน่งต่าง ๆ ที่ด้านฝ่ามือ โดยเฉพาะ Pulley A1 (รูปที่ 2)
  2. อาจคลำได้ก้อนเกิดจากเส้นเอ็นบวม
  3. ตรวจพบการเคลื่อนไหวนิ้วฝืด หรือ ล็อค
รูปที่ 2 แสดงถึงตำแน่งต่าง ๆ ของ ปลอกเส้นเอ็น Pulley บริเวณต่าง ๆ ดัดแปลงรูปจาก : https://www.youtube.com/watch?v=85n5Bv0n77Y
รูปที่ 2 แสดงถึงตำแน่งต่าง ๆ ของ ปลอกเส้นเอ็น Pulley บริเวณต่าง ๆ
ดัดแปลงรูปจาก : https://www.youtube.com/watch?v=85n5Bv0n77Y

โรคที่คล้ายกัน

ถึงแม้จะเป็นโรคที่ดูง่าย ๆ แต่ก็ยังจะมีโรคที่คล้าย ๆ กัน อย่างเช่น โรคข้ออักเสบ (Arthritis) มาให้เราวินิจฉัยแยกโรคกัน ซึ่งผู้เขียนขอนำความแตกต่างของทั้งสองโรคเอาไว้ในตารางที่ 1 ครับ

นิ้วล็อค ข้ออักเสบ
เคลื่อนไหวแล้วเจ็บในแนว งอ-เหยียด มากกว่า การเคลื่อนไหวในแนว โยกด้านข้าง โยกนิ้วไปด้านข้างแล้วเจ็บมากกว่าในแนว งอ-เหยียด
ข้อมักไม่บวมอักเสบ อาจมีข้ออักเสบบวม
ยิ่งใช้งานยิ่งแย่ลง เมื่อพักการใช้งานอาการจะดีขึ้น มักมีข้อติดตอนเช้า ใช้งานแล้วดีขึ้น
มักเป็นหลาย ๆ ข้อพร้อมกัน

ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างระหว่างโรคนิ้วล็อค และข้ออักเสบ

นิ้วล็อคมีกี่ระยะ

ระยะต่าง ๆ ของโรคนิ้วล็อคสามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ ตามความรุนแรงของโรค

  • ระยะที่ 1 (Pre-Triggering) : มีอาการปวด เจ็บฝ่ามือ แต่ยังคงสามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้เป็นปกติ
  • ระยะที่ 2 (Active Correctable) : มีอาการสะดุด (triggering) หรือ อาการขัด ปลอกเส้นเอ็นจะตีบแคบลง การเคลื่อนไหวจะยากขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้
  • ระยะที่ 3 (Passive Correctable) : กำมือได้ แต่เมื่องอนิ้วลงไปแล้วจะมีอาการค้าง หรือ เหยียดนิ้วมือไม่ออก จึงต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยในการเหยียดนิ้วมือออกมา
  • ระยะที่ 4 (Contracture) : มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วติดอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถึงแม้ว่าจะใช้มืออีกข้างหนึ่งมาช่วยเหยียดก็ตาม

นิ้วล็อค รักษาอย่างไร

ถึงแม้ในโลกานี้จะมีการรักษาที่หลากหลายรูปแบบ แต่บทความนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอแนวการรักษาโรคนิ้วล็อคเอาไว้เพียง 2 ศาสตร์ ได้แก่ แนวทางการรักษาแบบแพทย์แผนตะวันตก (แผนปัจจุบัน) และ แนวทางการรักษาแบบแพทย์แผนไทยตามตารางที่ 2 ครับ

ระยะ อาการ และอาการแสดง แนวทางการรักษา
แผนปัจจุบัน แผนไทย
1 Pre-triggering:

·       กดเจ็บที่โคนนิ้วด้านหน้า

·       การเคลื่อนไหวของนิ้วสะดุด (แต่ยัง งอ-เหยียด นิ้วได้สุด)

·     ใช้ยา NSAID + ยาคลายกล้ามเนื้อ ·     นวด-กดจุด

·     ประคบสมุนไพร

·     สักยา

·     แช่น้ำอุ่นผสมสมุนไพร

2 Active correctable:

·       ปวดเมื่อเคลื่อนไหวนิ้ว

·       งอเข้าได้สุด

·       เหยียดนิ้วจะสะดุด (แต่ยัง เหยียด นิ้วได้สุดปกติ)

·     ใช้ยา NSAID + ยาคลายกล้ามเนื้อ ·     นวด-กดจุด

·     ประคบสมุนไพร

·     สักยา

·     แช่น้ำอุ่นผสมสมุนไพร

3 Passive correctable:

·       ระดับ 3A: ต้องใช้มือช่วยเหยียด

·       ระดับ 3B: งอนิ้วเข้าไม่ได้

·     พิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณรอยโรค ·     นวด-กดจุด

·     ประคบสมุนไพร

·     สักยา

·     แช่น้ำอุ่นผสมสมุนไพร

4 Contracture:

·       นิ้วล็อคค้าง นิ้วยึดติด

·     พิจารณาทำการผ่าตัดเลาะบริเวณที่มีพังผืดเส้นเอ็นที่มีอาการอักเสบออก ·     นวด-กดจุด

·     ประคบสมุนไพร

·     สักยา

·     แช่น้ำอุ่นผสมสมุนไพร

ตารางที่ 2 แสดงระยะ, อาการและอาการแสดง, และ แนวทางการรักษาโรคนิ้วล็อค จะเห็นได้ว่า ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้ทุกระยะโดยไม่ต้องผ่าตัด (ผู้เขียนเชื่อว่าหากสิ่งใดไม่ดีจริงก็คงสูญหายไปตามกาลเวลา)

การนวด (สายราชสำนัก) รักษาโรคนิ้วล็อค

เมื่อปี 2021 ได้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบ่งชี้ถึงประสิทธิผลของการนวดไทยแบบราชสำนักในการรักษาโรคนิ้วล็อคว่า

  1. การนวดไทยแบบราชสำนัก (เพียง 3 ครั้ง) สามารถ ลดความปวดของนิ้วมือที่ล็อคได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
  2. การนวดไทยแบบราชสำนักสามารถ เพิ่มการเคลื่อนไหว (งอ-เหยียด) นิ้วมือได้มากขึ้น
  3. การนวดไทยสายราชสำนักสามารถ เพิ่มกำลังบีบของมือ และกำลังของนิ้วมือได้

หาใครสนใจอยากอ่านฉบับเต็มเพื่อดูสูตรการนวดที่ใช้ในงานวิจัย สามารถดาวโหลดฟรีเพียง [คลิกที่นี่] (ในส่วนของการอภิปลายผลการทดลอง “แซ่บ” มากต้องไปหาอ่านกันนะครับ)

รูปที่ 3 แสดงการนวดคลึงเบา ๆ บริเวณข้อนิ้วทั้ง 5 นิ้ว 2-3 รอบ โดยเน้นนิ้วที่ล็อค3-5 รอบ (ใช้เวลา 5 นาที) ดัดแปลงรูปจาก : คัญฑมารา สิทธิไกรพงษ์ และคณะ, ประสิทธิผลเบื้องต้นของการนวดไทยแบบราชสำนักในการรักษาโรคนิ้วล็อก: การศึกษานำร่อง, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่ 1, 2564
รูปที่ 3 แสดงการนวดคลึงเบา ๆ บริเวณข้อนิ้วทั้ง 5 นิ้ว 2-3 รอบ โดยเน้นนิ้วที่ล็อค3-5 รอบ (ใช้เวลา 5 นาที)
ดัดแปลงรูปจาก : คัญฑมารา สิทธิไกรพงษ์ และคณะ, ประสิทธิผลเบื้องต้นของการนวดไทยแบบราชสำนักในการรักษาโรคนิ้วล็อก: การศึกษานำร่อง, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่ 1, 2564

นอกจากการนวดไทยแบบราชสำนักที่สามารถช่วยให้คนไข้หายได้แล้ว การสักยาก็นับว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีอีกด้วย

การสักยารักษาโรคนิ้วล็อค

อิงจากการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research Method) แบบ Single Case Study ของ “สักยา เพื่อรักษาโรคนิ้วล็อค” ของ แพทย์แผนไทย (พท.) ยศกร ศรีสุทธิสัมพันธ์ แห่ง รพ.สต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ก็ได้บ่งชี้ว่า

  1. การสักยาสามารถลดระดับความเจ็บปวด (VAS) ได้มากกว่า 50%, เส้นเอ็นบริเวณ A1-pulley และ A3-pulley คลายตัว และอ่อนนุ่มลงอย่างเห็นได้ชัด
  2. การสักยาสามารถลดจำนวนครั้ง การติดและสะดุด โดย
    • ลดอาการติดขัดเมื่อกำมือ” ได้มากถึง 66.7%
    • ลดอาการสะดุดเมื่อแบมือ” ได้มากถึง 100.0%
รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างการสักยารักษานิ้วล็อคตามสายวิชาหมอชเอม ขุมเพชร
รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างการสักยารักษานิ้วล็อคตามสายวิชาหมอชเอม ขุมเพชร
ดัดแปลงรูปจาก :Facebook ของคุณ Yodsakorn Srisuthisamphan

สรุป

โรคนิ้วล็อค หรือ โรคไกปืน มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับคนไข้สะดวกรับการรักษาแบบได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากตารางที่ 1 ได้ครับ ในส่วนของการรักษาโรคนิ้ล็อคระยะ 1-2 นั้น สามารถทำได้เองที่บ้านโดยการแช่น้ำอุ่นผสมสมุนไพรแช่มือ ครั้งละ 15 นาที เช้า-เย็นครับ แต่หากไม่หายแล้วล่ะก็มาหาหมอเถอะครับจะได้ไม่เรื้อรัง

 

เขียน และเรียบเรียง โดย

พท.ป. ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล

 

อ้างอิง

  1. คู่มือการตรวจร่างกายทางออร์โธปิดิกส์กับโรคทางหัตถเวชกรรมไทย
  2. คู่มือประกอบการเรียนนวดไทย II นวดรักษาโรคสูตรอายุรเวช
  3. คัญฑมารา สิทธิไกรพงษ์ และคณะ, ประสิทธิผลเบื้องต้นของการนวดไทยแบบราชสำนักในการรักษาโรคนิ้วล็อก: การศึกษานำร่อง, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่ 1, 2564
  4. ยศกร ศรีสุทธิสัมพันธ์, สักยาน้ำมันสมุนไพรรักษาโรคนิ้วล็อค, งานนำเสนอผลงานทางวิชาการ

One thought on “รักษาโรค “นิ้วล็อค” แบบ “ไม่ผ่าตัด”

  1. Pingback: “เกลือสมุนไพรแช่ตัว” สารพัดประโยชน์ - พรหมวิหารคลินิก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *